พลังงาน จ.เชียงใหม่ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ตระหนักถึงการใช้พลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพ

พลังงาน จ.เชียงใหม่ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ตระหนักถึงการใช้พลังงาน อย่างมีประ สิทธิภาพ สนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้เสริม ไปพร้อมกับช่วยแก้ปัญหาสำคัญในพื้นที่
สนง.พลังงาน จ.เชียงใหม่ กระทรวงพลังงาน เข้าเยี่ยมชมโครงการต้นแบบในพื้นที่ ต.แม่แวน อ.พร้าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการในพื้นที่ ที่ สนง.พลังงาน จ.เชียงใหม่ ดำเนินการ เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับชุมชน สร้างรายได้ และอาชีพเสริม โดยเทคโนโลยีพลังงานชุมชน อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาสำคัญในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ อย่างปัญหาหมอกควัน และปัญหาภัยแล้ง

วิสาหกิจชุมชนถ่านอัดแท่ง – โรงอัดถ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่านอัดแท่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านเหล่า ต.แม่แวน อ.พร้าว โดยชาวบ้านได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนถ่านอัดแท่งได้ประมาณ 1 ปีแล้ว จากการสนับสนุนของ สนง.พลังงาน จ.เชียงใหม่ และ อบต.แม่แวน ทั้งในแง่ความตระหนักรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องปัญหาหมอกควันไฟป่า และสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงาน ที่ใช้ในการผลิตถ่านอัดแท่งอย่างครบวงจร โดย สนง.พลังงาน จ.เชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการพลังงานชีวมวลประชารัฐ ลดหมอกควัน ในพื้นที่อ.พร้าว เมื่อปี 2560 ภายใต้โครงการพลังงานชุมชน จัดการตนเองทางด้านพลังงาน งบประมาณจากกอง ทุน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
กระทรวงพลังงาน เน้นแก้ไขปัญหาหมอกควัน จากการเผาในที่โล่งแจ้ง ด้วยเทคโนโลยีเตาเผาถ่าน 200 ลิตร ชนิดลดควัน ซึ่งเกิดจากการผสมผสานและพัฒนาแบบเตาของ คุณโจนจันได แบบของมูลนิธิอุ่นใจ ปราชญ์ชาวบ้าน และแบบของกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จนได้แบบที่เหมาะสมในการเผาถ่านซังข้าวโพด และกิ่งไม้ที่เกิดควันน้อยมาก นำมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่ง ซึ่งมีคุณ สมบัติทนได้ความร้อนสูง ใช้งานได้นานกว่าถ่านทั่วไป ซึ่งเป็นที่ต้องการในท้องตลาดอย่างมากในปัจจุ บัน

นายชำนาญ กายประสิทธิ์ พลังงาน จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ในปี 2558 – 2559 พื้นที่ อ.พร้าว ถือเป็นจุดที่มี Hot Spot จำนวนค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาเศษวัสดุชีวมวลเหลือทิ้งในที่โล่ง เช่น ซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกิ่งไม้ใบไม้ จากไร่สวนต่าง ๆ สนง.พลังงาน จ.เชียงใหม่ ตระหนักถึงปัญหาและเล็งเห็นถึงศักยภาพของเศษวัสดุชีวมวลที่เหลือทิ้งว่า สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับชุมชน ควบคู่ไปกับการลดปัญหาการเผาทิ้งในที่โล่งได้ โดยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ตระหนักถึงปัญหา และสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงาน ในส่วนของการทำถ่านอัดแท่ง ทั้งเตาเผาถ่านชนิดลดควัน เครื่องบดย่อยป่นถ่าน เครื่องผสมถ่าน และเครื่องอัดแท่งถ่าน ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร สามารถใช้ในครัวเรือน และจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้”

“กระทรวงพลังงาน ได้มีการขยายผลเทคโนโลยีพลังงานชุมชน ส่วนของระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ในลักษณะงบอุดหนุน 70:30 โดย สนง.พลังงาน จ.เชียงใหม่ สนับสนุนงบประมาณในส่วนของพื้นคอนกรีต โรงอบ และระบบวงจรควบคุมทั้งหมด คิดเป็นเงิน 91,000 บาท ส่วนอีก 30% ที่เหลือ ได้แก่ ชั้นตากผลิตภัณฑ์ และป้าย ทาง อบต. แม่แวน ช่วยสนับสนุนให้กับกลุ่มฯ หวังว่า จะช่วยเสริมให้กลุ่มเข้มแข็ง สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอดสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้ชุมชนเข็มแข็งได้”
นายกมล เรือนแก้ว นายก อบต.แม่แวน กล่าวเสริมว่า “ทางหน่วยงานได้สนับสนุน ให้ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่านอัดแท่งขึ้นมา ซึ่งพื้นที่ของ อบต. ถือเป็นกลุ่มชุมชนที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว พร้อมให้การสนับสนุนและความร่วมมือกับทางราชการ

อีกทั้งชุมชนเอง ก็ได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก จากการเข้าร่วมโครงการ เพราะจากเดิมวัสดุทางการเกษตรเหลือทิ้ง ไม่ว่าจะเป็น ซังข้าวโพด กิ่งไม้ต่างๆ ถือเป็นของไร้ค่า ส่วนใหญ่ก็จะเผาทิ้ง กลายเป็นสร้างมลพิษทางอากาศด้วย แต่ปัจจุบัน เศษวัสดุเหลือทิ้งเหล่านั้น ถูกนำมาขายให้กลับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่านอัดแท่ง หลังจากนั้นก็นำมาเผาโดยเตาเผาถ่านชนิดลดควัน เข้าสู่กระบวนการผลิตถ่านอัดแท่ง นำไปขายสร้างรายได้นำมาแบ่งกัน ในกลุ่มวิสาหกิจฯ ถือเป็นความร่วมมือที่ก่อให้เกิดประโยชน์ 2 ต่อ นอกจากจะลดหมอกควันแล้ว ยังสร้างรายได้ เพิ่ม สร้างอาชีพใหม่ๆ ให้กับในชุมชนอีกด้วย”

นายอำพล ไชยนุรักษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่านอัดแท่ง เล่าความประทับใจให้ฟังว่า “กลุ่มวิสาห กิจนี้ ถือเป็นต้นแบบการรวมกลุ่มสร้างงาน สร้างอาชีพเสริม ซึ่งเกิดจากการนำเอาวัสดุที่คนคิดว่าไร้ค่า แถมการกำจัดยังสร้างปัญหามลพิษขึ้นด้วย มาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม” และนำเยี่ยมชมกระบวนการผลิตถ่านจริง พร้อมอธิบายให้ฟังว่า “ในการเผาถ่านด้วยถัง 200 ลิตร 1 ถัง ถ้าเป็นซังข้าวโพด จะใช้ประมาณ 30 กก. เผาประมาณ 1 ชม. ได้เป็นถ่านออกมาประมาณ 8 – 10 กก. แต่ถ้าเป็นกิ่งไม้ เช่น กิ่งลำไย กิ่งมะม่วง จะเผานานกว่าหน่อย แล้วแต่ขนาดไม้ และความสุกของไม้ เต็มถังก็จะได้ถ่านประมาณ 1 ใน 3
ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วในพื้นที่ อบต.แม่แวน จะเป็นกิ่งไม้มากกว่าซังข้าวโพด ที่นำมาผลิตถ่านที่นี่ ส่วนในกระบวนการผลิตถ่านอัดแท่ง ก็จะนำถ่านที่เผาได้ มาเข้าเครื่องบดย่อยเพื่อป่นเป็นผง นำมาเข้าเครื่องผสมโดยส่วนผสมคือ น้ำ แป้งมัน และผงถ่าน  จากนั้นก็จะไปเข้าเครื่องอัด เพื่อออกมาเป็นถ่านอัดแท่ง นำมาบรรจุถุงติดตราขาย กก.ละประมาณ 20 บาท” “เราลงแค่แรง ค่าเศษวัสดุก็ไม่กี่บาท เพราะปกติเขาทิ้งอยู่แล้ว เครื่องมือก็ได้รับการสนับสนุนจากพลังงาน รายได้ ก็มาแบ่งกัน นอกจากนั้นคือความภูมิใจ ที่สร้างเสริมรายได้ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาหมอกควันที่ชุมชนมีส่วนก่อขึ้นด้วย” นายอำพลฯ กล่าวต่ออย่างอารมดี
นายชำนาญ กายประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า “ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจำนวน 19 แห่ง ที่นี่ถือเป็นหนึ่งใน 19 ที่ สนง.พลังงาน จ.เชียงใหม่สนับสนุน ถือเป็นการขยายด้านการใช้พลังงานทดแทนที่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาภัยแล้ง เพื่อการเกษตร หรืออุปโภคตามนโยบายของรัฐบาล สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม เน้นการจัดรูปแบบด้านพลังงานที่มีอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน เกิดความคุ้มค่า สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น