ตะลึง!! อปท.ใหญ่เชียงใหม่ เร่งรัดแผนใช้จ่ายงบสะสม

คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชี้แจงมติที่เสนอต่อ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น(สถ.)เพื่อนำไปมอบหมายเป็นนโยบายสู่อปท.ว่า อปท.ควรใช้จ่ายงบฯในแต่ละปีตามเทศบัญญัติ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย นโยบายที่รัฐกำหนด ใช้ให้เกิดความคุ้มค่า บริหารจัดการงบให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อไม่ให้งบเหลือตกเป็นงบสะสม เพราะหากตกเป็นงบสะสมแล้ว การใช้เงินส่วนนี้ค่อนข้างมีปัญหาติดขัดระเบียบ
ประการสำคัญโครงการที่จะใช้จ่ายงบ ต้องให้ สตง.เข้ามาตรวจสอบก่อนดำเนินโครงการ และอปท.แต่ละแห่งมีงบสะสมไม่เท่ากันควรกำหนดเพดาน การใช้จ่ายไว้ หากอปท.ใดต้องการใช้เงินสะสมต้องมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขใดๆบ้าง ซึ่งตามระเบียบแล้ว อปท.ต้องกันเงินสะสมประจำปีร้อยละ 25 เมื่อสะสมต่อเนื่องกัน ก็มีเป็นจำนวนมาก

ผู้บริหารอปท.ในเชียงใหม่ เห็นพ้องกันว่า เงินสะสมของอปท.นั้นมีความเหลื่อมล้ำกันมาก บางแห่งมีเงินสะสมเป็นจำนวนมาก บางแห่งมีแต่ไม่นำไปใช้ บางแห่งไม่มีเงินเหลือพอจะจ่ายเงินเดือน ดังนั้นควรจะต้องแก้ไข หาวิธีการบริหารงบประมาณให้เพียงพอ โดยพิจารณาจากรายได้ เงินสะสม หนี้สิน และโครงการที่จะดำเนินการ มีประโยชน์มากน้อยเพียงใด ประกอบกัน
นายอุดร ตันติสุนทร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านท้องถิ่นเสนอว่าควรนำเงินสะสมของ อปท.มารวมเป็นกองกลาง มีคณะกรรมการบริหารกองทุน ที่มีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆตามเหมาะสม เช่นสำนักงบ, กรมสถ.,ก.มหาดไทย, สตง. และตัวแทนที่เกี่ยวข้องกับ อปท.แต่ละรูปแบบ หาก อปท.ต้องการใช้ก็นำเสนอขอเข้ามา คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้อปท.ที่มีงบสะสมน้อย สามารถดำเนินโครงการเพื่อท้องถิ่นได้มากขึ้น

ทั้งนี้นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ. )กล่าวว่า เรื่องเงินสะสมนั้น อปท.แต่ละแห่งมีไม่เท่ากัน เพราะขนาดแตกต่างกัน รายได้ไม่เท่ากัน งบประมาณที่ได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นเงินสะสมที่เหลือจึงแตกต่างกันไปด้วย ในหลักเกณฑ์ การปฏิบัตินั้น อยู่ที่ดุลยพินิจของผู้บริหารท้องถิ่นกับสภา ที่จะหการือร่วมกัน การมีเงินสะสมมากน้อย เหลือจ่ายหรือใช้จ่ายในกิจกรรม โครงการใด จึงไม่น่าเป็นปัญหา
ปัจจุบันแนวทางแก้ไขไม่ได้อยู่ที่ระเบีบปฏิบัติ แต่ขึ้นอยู่กับแผนงาน ที่ต้องสามารถปฏิบัติจริงได้ในปีปัจจุบัน สอดคล้องกับความต้องการและประโยชน์คุ้มค่าของท้องถิ่นนั้นๆที่อปท.กำกับดูแล ตามภารกิจ หน้าที่ อีกทั้งงบสะสมทางกรมสถ.มีฐานข้อมูล เห็นความเคลื่อนไหว การดำเนินการทุกระยะ ทุกขั้นตอน คงเป็นการยากที่จะเกิดปัญหา และถ้ามีความผิดปกตินอกจากกรมสถ.จะเข้าติดตามตรวจสอบ ยังมี สตง.และหลายๆหน่วยงาน รวมถึงภาคประชาสังคมร่วมสอดส่องการใช้งบคงยากจะเกิดการทุจริตเชิงนโยบาย

ผู้สื่อข่าวสอบถาม หน่วยงานสตง.และปปช.ในพื้นที่เชียงใหม่ กรณีภาคประชาสังคม ตั้งข้อสังเกตการใช้จ่ายงบสะสมจำนวน 63 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่เชียงใหม่ 150 บ่อของอปท.ใหญ่ในจังหวัดนั้น ยังมีพิรุธเชื่อมโยงไปถึงการสืบค้นข้อเท็จจริงในการจัดซื้อชุดขุดเจาะบ่อบาดาลมูลค่ากว่า 37 ล้านบาท และเอกชนคู่สัญญามีลักษณะการโยงใย เป็นกลุ่มที่ผูกขาดกับสัมปทานการจัดซื้อ จัดจ้างในอปท.ใหญ่ๆแห่งนี้ในเชียงใหม่ด้วยอย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ ฯระบุว่า อยู่ในขั้นตอน ติดตามรายละเอียด เพราะประเด็นดังกล่าว ค่อนข้างพูดถึงกันมากในแวดวง อปท.ในเชียงใหม่ เพราะเท่าที่ตรวจสอบกับหน่วยงานที่มีภารกิจด้านขุดเจาะบ่อบาดาล ด้านจัดการน้ำ ยืนยันว่า ภารกิจท้องถิ่นซ้ำซ้อน เป็นการสิ้นเปลืองงบและแนวทางการเตรียมถ่ายโอนภารกิจก็ดำเนินการไปตามกระบวนการ ดูเหมือนมีเจตนาส่อเร่งรัดใช้งบสะสมมากไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น