ติงตั้งล้งกลาง ลำไยไทยฟัดล้งจีน แก้เกมราคาผลผลิตสูตรเดิมๆ

ประเด็นราคาสินค้าในภาคการเกษตรของไทย แทบจะไม่มีผลผลิตใด ไม่มีปัญหาในฤดูกาล ยกเว้นทุเรียน เนื่องจากการผลิตที่มากเกินความต้องการตลาด ก็ย่อมมีราคาตกต่ำเป็นปกติและลำไยก็เช่นกัน แม้จะมีการบริหารจัดการผลผลิต โดยถอดบทเรียนจากฤดูกาลที่ผ่านๆมา ก็ยังสาละวนกับรูปแบบแก้ไขปัญหาในสูตรเดิมๆ แม้กระทั่ง การตั้งล้งกลาง ภายใน 1 ส.ค.นี้ โดยมอบกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งที่ผ่านมานั้น “สุพัตรา ธนเสีวัฒน์”อดีตปลัด กระทรวงเกษตรฯ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เคยนำเสนอต่อระดับนโยบาย ใช้ดำเนินการมาแล้ว
ฤดูกาลปี 2560 ภาคเหนือมีผลผลิตทะลักออกสู่ตลาดช่วงก.ค-ส.ค. แหล่งใหญ่คือ เชียงใหม่ 134,106 ตัน และลำพูน120,000 ตัน ไม่แตกต่างจากฤดูกาลนี้มากนัก ราคาลำไยช่อสด เกรด เอเอ. 29-32 บาท/กก. บาท เกรด เอ. 24 บาท/กก. บี 19 บาท/กก. และเกรด ซี 10 บาท/กก. ส่วนลำไยรูดร่วง เกรด เอเอ. 17-21 บาท/กก. เกรด เอ 12บาท/กก เกรด บี 7 บาท/กก. และเกรด ซี 2 บาท/กก ในฤดูกาลนี้ เกรด เอเอ.ช่วงนี้ 22-24 บาท เกรดเอ 15-16 เกรด บี 6-7บาท ซี 1-2 บาท อาจขยับอีก แต่ราคาที่กำหนดเพดานสูงๆนั้น จะเป็นจัมโบ้หรือเกรด เอเอ.มากกว่า ซึ่งผลผลิตคุณภาพในตลาดในเกรดดังกล่าวมีน้อย และหากสังเกตลูกเล่นล้งจีนจะพบว่า กดราคา ในเกรดบีและซี แตกต่างจากฤดูกาลที่ผ่านๆมาถึง 2-4 บาท
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า หมวดสินค้าในภาคการเกษตร เป็นเพียงหนึ่งองค์ประกอบรายการสินค้าส่งออก ที่มีมูลค่า แสนกว่าล้านบาท เฉพาะลำไยในทุกฤดูกาล ตามข้อมูลที่การค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์รวบรวม โดยระบุตัวเลขส่งออก ผัก ผลไม้สด ผลผลิตแปรรูป หดตัวร้อยละ 9.4 รายงานศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ศึกษาผลกระทบกรณีรับซื้อผลไม้(ล้งชาวต่างประเทศ) เข้ามาประกอบธุรกิจในแหล่งผลิตผลไม้ของไทย มีมูลค่าส่งออกในปี 2560 พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 7.6 หมื่นล้านบาท ผลไม้จากไทยไปเวียดนามมีการนำไปแปรรูปหรือติดฉลาก เมด อิน เวียดนาม ส่งไปขายจีน 70-80 %
กระแสล้งต่างชาติเริ่มมาแรงเมื่อ 5 ปีก่อน และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันผู้ประกอบการล้งจีนในไทยมี1,090 ราย เป็นผู้ค้าลำไย 473 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออก แต่จะเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตใหญ่ๆทั่วประเทศ เช่นภาคเหนือ บางล้งมีการขยายฐานโรงงาน จุดรับซื้อ แหล่งผลิต สินค้าแปรรูปมาในพื้นที่เชียงใหม่ ลำพูน( เฉพาะเชียงใหม่ ลำพูน นอกจากล้งรับซื้อผลผลิตเกษตรรายใหญ่ 5 ราย ยังมีล้งนายหน้า ล้งต่างๆอีกมากกว่า 200 ราย)
รายงานการศึกษา โดยคณะกรรมาธิการพานิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สนช.ยืนยันชัดว่ามีผู้ประกอบการชาวจีนหลายกลุ่ม รับซื้อผลไม้และตั้งโรงคัดบรรจุหรือล้ง มีเงินทุนมากจึงสามารถครอบงำ ควบคุมกลไกตลาดได้อย่างครบวงจร กรณีลำไยในภาคเหนือ ปีที่แล้ว ภาครัฐออกมาตรการดึงราคาโดยกำหนดราคารับซื้อให้สูงขึ้น ทำให้ผู้รับซื้อที่เป็นพ่อค้าจีนถึง ร้อยละ 80 ได้รวมตัวกันหยุดรับซื้อลำไยทันที หากภาครัฐฯจะใช้วิธีการตั้งล้งกลาง รับซื้อลำไยแบบเหมารวม ในแหล่งผลิตต่างๆ โดยมีหน่วยงานรัฐฯเป็นกลไกสำคัญ ก็พึงระวัง สัมปทานการกว้านซื้อผลผลิตแบบเหมาสวนนั้น เป็นวิธีการที่ล้งต่างชาติ โดยเฉพาะล้งจีนทำมานานหลายปี รูปแบบนี้แทนที่ชาวสวนลำไย เกษตรกรจะได้รับประโยชน์ จะกลายเป็น การหยิบยื่นผลประโยชน์ให้กลุ่มล้งต่างชาติ ที่สุมหัวกับ จนท.รัฐ ตัวแทนภาครัฐฯ แบ่งปันรายได้อย่างสำราญบานตะไท การกว้านซื้อผลผลิตผ่านกลไกสหกรณ์ ถ้าติดมือ ต่อรองกับผู้ซื้อรายใหญ่ไม่ได้ ตามที่คาดหวัง จะเกิดอะไรขึ้นในตลาด หรือจะเอาลำไยไปแลกรถไฟ เรือดำน้ำ เครื่องบินขอบคุณภาพ : พาณิชย์ลำพูน

ร่วมแสดงความคิดเห็น