ระวัง !!! แพทย์ ชี้คอหมูกระทะเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนปกติ

จากการเก็บข้อมูลอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรงโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 10,624 ราย ในปี 2554 มาอยู่ที่ 12,563 ราย ในปี 2557 ส่งผลต่อเนื่องถึงยอดผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลําไส้ใหญ่และไส้ตรง มากกว่า 3,000 รายต่อปี คาดว่า หากไร้มีนโยบายการคัดกรองมะเร็งลําไส้ใหญ่อย่างจริงจัง จํานวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า เป็น 21,188 ราย ภายในระยะเวลา 10 ปี จึงเกิดการยกระดับเรื่องนี้เป็น ‘นโยบายสาธารณะ’
ซึ่งเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2561 มีการประชุมยกร่างมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย “การแก้ปัญหา ป้องกัน และควบคุมมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักอย่างมีส่วนร่วม” ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อํานวยการด้านพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ จาก 7 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1.การรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง หรือเนื้อสัตว์แปรรูปอื่น ๆ 2.น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรืออยู่ในภาวะอ้วน 3.ขาดการออกกําลังกาย 4.สูบบุหรี่ 5.ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจํา 6.มีประวัติเนื้องอกที่ผนังลําไส้ใหญ่และไม่ใช่เนื้อร้าย 7.ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลําไส้ใหญ่และทวารหนัก
แต่สถาบันมะเร็งฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นหารือที่สาเหตุอันดับต้น ๆ ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ ซึ่งน่าวิตกกังวลมากที่สุดนั่นคือ การรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง (Red meat) หรือเนื้อสัตว์แปรรูปอื่นๆ (Processed meat) ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่นิยม เพราะปัจจุบันมีกระแสบุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง ที่ยิ่งกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น จนมองข้ามอันตราย เนื่องจากเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปใส่สารไนเตรทและดินประสิวเพื่อให้เนื้อสัตว์มีสีแดง รวมทั้งในกุนเชียง ไส้กรอก เบคอน เนื้อเค็ม ลูกชิ้น แหนมสด ปลาแห้ง เนื้อแห้ง เพื่อให้มีอายุยาวนานขึ้น
ดร.ศุลีพร ย้ำว่า แม้มีประโยชน์ในการถนอมอาหาร แต่สารไนเตรทและไนไตรท์ก็มีโทษเช่นเดียวกัน เพราะสารชนิดนี้จะทําปฏิกิริยากับสารประกอบเอมีนในอาหาร ร่วมกับสภาวะความเป็นกรดในกระเพาะ ทําให้เกิดไนโตรซามีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และถ้านำไปปิ้งย่างจนไหม้เกรียม ก็จะมีสาร PAHs ซึ่งก่อมะเร็งที่เพิ่มขึ้นไปอีก การบริโภคแม้จะปริมาณน้อย แต่หากบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานานย่อมมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กําหนด ปริมาณใช้เกลือไนเตรทหรือไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมัก ให้มีเกลือโซเดียมไนไตรท์ได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และโซเดียมไนเตรทได้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม กรณีที่ใช้ทั้งโซเดียมไนไตรท์และโซเดียมไนเตรทให้มีปริมาณรวมกันได้ไม่เกิน 125 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยผู้บริโภคสามารถสังเกตตัวอักษรหลังฉลาก คือ INS (International Numbering System) ซึ่งเป็นเลขประจําตัวที่ใช้เป็นสากลของวัตถุเจือปนอาหาร โดย INS 250 คือโซเดียมไนไตรท์ และ INS 251 คือโซเดียมไนเตรท
ส่วนในผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูป ดร.ศุลีพร ระบุว่า ไม่ได้เป็นอาหารหลักจึงไม่มีรายงานปริมาณการบริโภคที่เหมาะสมหรือปริมาณการบริโภคที่บ่งชี้โรคมะเร็ง แต่มีรายงานว่าการบริโภคเนื้อแปรรูปเพิ่มขึ้นวันละ 50 กรัม จะเพิ่มความเสี่ยง 18%
ควรลดหรือหลีกเลี่ยงเนื้อแดงและเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนแปรรูป ทั้งแบบอุตสาหกรรมและการผลิตแบบชุมชนที่ไม่มีมาตรฐาน รวมถึงเนื้อสัตว์ปิ้งย่างที่ไหม้เกรียม หรือทอดด้วยน้ำมันทอดซ้ำ ทั้งมีปัจจัยเสี่ยงร่วมของมะเร็งต่าง ๆ เช่น การไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน และการสูบบุหรี่ ขณะเดียวกันไม่ควรบริโภคเนื้อแดงมากกว่า 500 กรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่หลายประเทศใช้อ้างอิง
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.hfocus.org/content/2018/07/16037

ร่วมแสดงความคิดเห็น