สสส. ผนึกภาคีสร้างเสริมสุขภาพ จัดเวที “สานงาน เสริมพลัง ภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคเหนือตอนบน ข่วงกำกึ๊ด ล้านนา”

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 กรกฎาคม 2561 ที่ โรงแรมดิเอมเพลส จ.เชียงใหม่ นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานเวที “สานงาน เสริมพลัง ภาคีเครือข่ายสุขภาวะภาคเหนือตอนบน : ข่วงกำกึ๊ดล้านนา” จัดโดยสำนักภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ แกนนำภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน กว่า 25 ภาคี มีผู้เข้าร่วมกว่า 800 คน

โดยนายประจวบ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคเหนือที่มีความโดดเด่นหลายด้าน อาทิ การท่องเที่ยว การศึกษา ธุรกิจการค้าและบริการ ตลอดจนมีความงดงามทางวัฒนธรรมที่เป็นเสน่ห์ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยจังหวัดเชียงใหม่ มีต้นแบบพื้นที่และแหล่งเรียนรู้สุขภาวะ ที่พร้อมให้ทุกคนเข้ามาแลกเปลี่ยน และนำไปขยายแนวทางการทำงานสร้างเสริมสุขภาพให้เข้มแข็งต่อไป นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุน คนที่ 2 สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุน
และส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยสามารถควบคุมพฤติกรรมสุขภาพตนเอง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้ยุทธศาสตร์ “ไตรพลัง” ได้แก่ พลังปัญญา พลังนโยบาย และพลังสังคม เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งปัจจุบัน สสส. ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า 18,000 โครงการ มีภาคีเครือข่ายในหลากหลายองค์กรกระจายอยู่ทุกภูมิภาค สสส. ไม่ได้สนับสนุนเฉพาะงบประมาณ แต่ยังให้การสนับสนุนในเชิงวิชาการ องค์ความรู้ การบริหารจัดการ และการสร้างเครือข่าย ซึ่งการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นโอกาสดีในการสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายมองเห็นช่องทางในการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาค ภาคเหนือตอนบน และยังเป็นเวทีนำเสนอ “ผลงานสร้างเสริมสุขภาพ” ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการยกระดับการขับเคลื่อนงานสุขภาวะ ทั้งเชิงพื้นที่และเชิงนโยบายให้มีความกว้างขวางและยั่งยืนต่อไป นายณัฐพันธุ์ ศุภกา รักษาการผู้อำนวยการสำนักภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า กระแสการ
เปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐิจ สังคมและเทคโนโลยี ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นไปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว การเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายเพื่อพร้อมรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงาน ให้เกิดการหนุนเสริมซึ่งกันและกันในระดับพื้นที่ จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการขับเคลื่อนงานตามบริบทพื้นที่ จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ และการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ โดยได้สรุปประเด็นสำคัญเพื่อใช้ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ได้แก่
1.อาหารที่พอเพียง ปลอดภัย และเข้าถึงอย่างมั่นคง โดยมีกระบวนการพัฒนาเกษตรกรให้เกิดทักษะในกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยตลอดจนการแปรรูปผลผลิต การพัฒนาช่องทางการตลาดที่สามารถสร้างรายได้และสร้างอาหารปลอดภัยสู่สังคม
2.ชุมชนจัดการตนเองบนฐานสังคมและวัฒนธรรมล้านนา ที่สนับสนุนกระบวนการพัฒนาในกลุ่มประชากรทุกช่วงวัย
3.การจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ
4.เหลียวหลัง แลหน้า เสริมคุณค่าสร้างความมั่นคงชีวิตบนฐานพหุชาติพันธุ์
5.กินอยู่ ฮู้ฮัก รักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้หัวใจของการจัดงานเพื่อเป็นเวทีให้ภาคีเครือข่ายสุขภาวะล้านนา แชร์ และโชว์ผลของการทำงานทั้ง 5 ประเด็น โดยเชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายจะได้เห็นนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพจากงานนี้ และนำไปสู่การเชื่อมกันในการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น