ผ่างบพัฒนาเชียงใหม่ ปี 61 น่าจะได้ฤกษ์ขอแยกจังหวัด

เชียงใหม่ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก เป็นเมืองเศรษฐกิจแถวหน้าของภูมิภาค อินโด -ไชน่าอีกแหล่ง แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดร่วมๆ 2 แสนล้านบาท กับสภาพความเป็นอยู่ของประชากร ยังเป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว หมื่นเศษๆต่อคน ดูราวกับผู้คนอยู่ในเมืองชายขอบที่ห่างไกลความเจริญมากๆข้อมูลบรรยายสรุปจังหวัดล่าสุด ยืนยันที่มาของแหล่งรายได้อันดับ 1 ร้อยละ 22.15 อยู่ในภาคการ เกษตร ส่วนกลุ่มอื่นๆไม่ว่าจะการก่อสร้าง การค้า การบริการอยู่ในอัตราด้านละไม่ถึง 10 % รายได้จากภาคการท่องเที่ยว เฉลี่ยปีละ 8-9 หมื่นล้านบาท จากนักท่องเที่ยวราวๆ10 ล้านคนในแต่ละปี
ในภาคอุตสาหกรรมนั้น เชียงใหม่มีการลงทุนกว่า 21 ประเภท กิจการร่วมๆ 2 พันแห่ง มูลค่าการลงทุนทั้งระบบรวมกว่า 32,000 ล้านบาท สร้างงานถึง 4-5 หมื่นอัตรา มีการจดทะเบียนนิติบุคลประมาณ 16,834 ราย เงินทุนรวม 236,421,874,528 บาท มากมายไม่ใช่น้อย แต่มีเหตุผลใดที่จังหวัดซึ่งมี 25 อำเภอ 204 ตำบล 2,066 หมู่บ้าน มี หน่วยงานราชการส่วนกลาง 166 หน่วย ส่วนภูมิภาคอีก 34 หน่วยงาน และส่วนราชการท้องถิ่น 211 แห่ง มีนักธุรกิจระดับร้อยล้าน พันล้านเป็นผู้บริหารท้องถิ่นหลายราย ยังมีความแตกต่างของการพัฒนาพื้นที่ในแต่ละอำเภอลิบลับ
ทั้งนี้เชียงใหม่ มีประชากรตามฐานข้อมูลทางทะเบียนราษฎร 1,732,712 คน( ณ ส.ค.2559 ) ส่วนประชากรแฝง การเลื่อนไหวของผู้คน แรงงานต่างถิ่น ต่างด้าวอีกเป็นล้าน ทำให้เป็นจังหวัดที่แบกรับสารพัดปัญหา จนเกินศักยภาพ หน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่รองรับ จะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมบูรณ์ครบถ้วน
ในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งจะสิ้นสุดปีงบ 30 ก.ย.นี้ เชียงใหม่ได้รับการจัดสรรงบ 24,953,303,471 บาท โดยแต่ละหน่วยงาน 3 ส่วน จะได้รับการจัดสรรปันงบ ตามเหมาะสม เช่น หน่วยงาน ก.พัฒนาสังคมฯ ได้รับ 47,495,000 บาท โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต 7 ล้าน แต่ละแผนงานจะมีงบแบ่งแยกเป็นรายการๆไป
ถ้าเป็นงบในส่วน ก.เกษตรฯนั้น เชียงใหม่ได้รับรวม 3,721,972,450 บาท จัดแบ่งให้หน่วยงานกรมชล ประทานไป 2,782,114,000 บาท การสนับสนุนโครงการพระราชดำริ กว่า 84 ล้านบาท มีรายการซ่อมซ่อมระบบส่งน้ำฝายห้วยบง 2 ต.บ้านวัดจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา 1.5 ล้านบาท เป็นต้น รายละเอียดงบ 308 หน้าตรวจสอบงบจังหวัด ที่สำนักงบฯเปิดเผยผ่านเวปไซค์ได้
ประเด็นที่น่าสนใจคือภูมิประเทศของเชียงใหม่ สร้างความยากลำบากในการเดินทาง เพราะบางพื้นที่มีภูเขา สลับซับซ้อน การคมนาคม ติดต่อระหว่างเมืองเชียงใหม่ ไปแต่ละอำเภอ เช่น ไป อ.เวียงแหง มีระยะทาง 150 กม. ไป อ.แม่แจ่ม 156 กม. ซึ่งต้องย้ำว่า เส้นทางไม่ได้ราบเรียบแบบถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ต้องลัดเลาะเลี้ยวไปตามทิวดอย ป่าเขา

วันนี้มีการนำเสนอและเรียกร้อง ให้ทบทวนแผนจัดตั้ง จ.ฝาง ที่อาจรวม อ.แม่อาย,ฝาง,เวียงแหง, เชียงดาว,ไชยปราการ ซึ่งเคยผลักดันเรียกร้อง เมื่อปี 2552 แต่ไม่เข้าเงื่อนไขจัดตั้งจังหวัดใหม่ที่ต้องมีประชากรรวมกันมากกว่า 3 แสนคนขึ้นไป มี 8 อำเภอ หน่วยงานราชการต้องมีความพร้อม ได้รับการยินยอมจากประชาชนทั้งจังหวัด แผนนี้พับฐานไปนาน เช่นเดียวกับแผนจัดตั้ง จ.จอมทอง
ด้วยเหตุและผลที่ว่า จากสภาพความเป็นจริงที่ปรากฎตามฤดูกาล ยกตัวอย่าง บางชุมชน ตำบลใน อ.อมก๋อย , อ.กัลยาณิวัฒนา มีความเหลื่อมล้ำ คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งชาวบ้าน ผู้นำชุมชน หรือแม้แต่หน่วยงานใน 3 ส่วนงานต่างๆในพื้นที่ตั้งคำถามว่า จะต้องรอคอยความเจริญ แผนพัฒนา และงบประมาณตามที่เรียกร้องไปอีกนานแค่ไหน ข้าราชการโยกมาก็ย้ายไปตามวาระ แต่ ราษฎรต้องอยู่ในพื้นที่แผ่นดิน ถิ่นเกิด ถ้าทิ้งบ้าน ทิ้งเมืองไปใครจะมาช่วยพัฒนาให้อยู่ดี มีสุข ไม่ทนทุกข์ถ้วนหน้ากัน
ขอบคุณภาพ : จากทีมโดรน แขวงการทาง เชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น