ชีวิตจริงสาวเหนือ ยังถูกยัดเยียด ภาพแบบนิยายในอดีตจนถึงวันนี้

หากย้อนเวลาหาอดีตไปราวๆ30-40 ปี จะมีคำที่บาดใจผู้คนในสังคมไทย โดยเฉพาะภาคเหนือนั่นคือคำว่า “ตกเขียว” ในพจนานุกรมฯ อธิบายว่าหมายถึง ” การที่นายทุน หยิบยื่นผลประโยชน์ ทั้งในรูปข้าวของเงินทองให้ชาวนา ชาวไร่ เพื่อแลกเปลี่ยนกับลูกสาว หญิงสาวในครอบครัว ที่ไม่มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษา และนายทุนเหล่านั้นจะนำพาเข้าสู่ระบบการค้าประเวณี เพื่อถอนทุนเงินกู้หรือผลประโยชน์ตามที่ตกลงกันไว้กับผู้ปกครองของกลุ่มเด็กเหล่านั้น “
ขอออกตัวว่านั่นเป็นเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมากว่า 30 ปี พฤติการณ์แห่งคดีที่ส่อไปในทางตกเขียว ไม่ได้อุบัติขึ้นแค่ภาคเหนือ แต่ยังพบปรากฎทั่วทุกภาคของไทย ในกลุ่มครอบครัวที่ยากไร้ และมีวิถีความเชื่อในยุคนั้นว่า ยอมทำทุกอย่างเพื่อทดแทน พระคุณพ่อแม่ ทบทวนดูให้ดี เป็นความกตัญญูต่อบุพการีของเด็กๆหญิงสาวที่ไม่กร้านโลกย์ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน บางคนยอมเอา ศักดิ์ศรีสตรีเพศ เรือนร่าง เข้าสมสู่ ขาย แลกเพื่อให้ได้มาซึ่งความฟุ้งเฟ้อ สดวกสบาย ขอเพียงให้ได้มาในทุกสิ่งที่ปรารถนา

ในอดีตนั้น “ผู้หญิง” ต้องรับบท เป็นแม่บ้าน แม่เรือนตั้งแต่เช้ายันค่ำ เพื่อให้ครอบครัว อิ่ม สุขสบาย ไม่มีโอกาสเข้าสู่การศึกษา หาความรู้ ต่างจาก”ผู้ชาย” ที่สามารถบวชเรียน ศึกษาธรรมะ และศาสตร์ศิลป์ต่างๆ จนได้ความรู้ ทั้งงานช่าง งานไม้ งานแกะสลัก จักสาน ในขณะที่ผู้หญิงมีเพียง งานถักทอผ้า สาละวนกับงานบ้าน งานเรือน งานในไร่ ในสวน ภาพในชีวิตจริง ของสาวชาวเหนือ ไม่เหมือนในวรรณกรรม นิยายถ้อยประดิษฐ์ ที่วางเค้าโครงเรื่องให้เงียบหงิม เรียบร้อย ใสซื่อ อ่อนแอ ไม่ทันเล่ห์ จิ้งจอกหนุ่มจากเมืองกรุง ที่โอ้โลม หลอกเร้า เข้ารก เข้าพง ยอมพลีกาย เพื่อบูชาความรัก
ท้ายที่สุดก็ต้องใช้พล็อตเรื่องว่า ถูกฟันแล้วทิ้ง ถูกนำไปขายตามซ่อง ซมซานกลับมา ซึมเศร้า หาสถานที่ฆ่าตัวตาย แบบนิยายวังบัวบาน ซึ่งหลักฐานพยานคดีนั้น หญิงสาวไม่ได้ประชดรักหนุ่มกรุง เพราะคนรักเป็นคนเชียงใหม่ ที่พลัดตกลงไปเป็นอุบัติเหตุ พอๆกับ ประเด็น “สาวเครือฟ้า”บทประพันธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเล่าว่า ดัดแปลงมาจากเรื่อง มาดามบัตเตอร์ฟลาย ที่เป็นละครร้อง อุปรากรก้องโลก ฉายกันมาเป็นชาติ ทุกวันนี้ ในโรงละครดังแถวๆยุโรป ยังหาชมได้ ไม่ใช่ชีวิตจริงที่เกิดขึ้นตามบทภาพยนต์แต่ละยุค
และกลายเป็นเค้าโครงต้นแบบให้บรมครูนักเขียนดังๆของไทยในอดีต นักแต่งเพลง ร้อยเรียงประพันธ์เรื่อง บทละคร ผ่าน..แว่วเสียงซึง, สาวป่าซาง ,สาวสันกำแพง,มิดะ, สาวบ่อสร้าง, แม่สายสะอื้น, ข้างหลังภาพ ,มะเมีย ศิลามณี และเร็วๆนี้กับละครดังหลังข่าว “เวียงกุมกาม” แล้วเหตุใด ความอคติต่อ ภาพลักษณ์ หญิงสาว ชาวเหนือ ยังคงดำรงอยู่ ในสังคม ก็ขนาดมีบางคนใช้เวลา 49 วัน เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ของประเทศ และเป็น สาวเจียงใหม่ ลักษณาการทางสังคมยังฉายชัดไปในทิศทางที่เราต่างรู้ดี

นอกจากนี้ ผู้หญิงเหนือจำนวนมาก ที่สร้างคุณานุคุณต่อบ้านเมืองทั้งในการมีส่วนริเริ่มจัดตั้งกองทุนเพื่อแก้ปัญหาตกเขียว จนพัฒนาเป็นกองทุนเสมา ที่โกงกินกันเป็นร้อยๆล้าน พอจับได้ไล่ทัน ระดับนโยบายต้องดื่มไวน์ผสมยาพิษฆ่าตัวตาย ปิดคดี!! หรือแม้แต่ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในแวดวงภาครัฐ-เอกชน เป็น ผู้หญิงแถวหน้าของเมือง ทำหน้าที่สำคัญๆ ทั้งหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ สังคมคนดี ผู้เจริญแล้วกลับไม่สนใจเชิดชู ยกย่อง แต่เล็งไปที่ประเด็น สาวเหนือชอบนอกใจ หลอกลวง หลอกขาย หลอกฟัน สุมหัวเป็นแก๊งค้ากาม สารพัดดราม่า มายาคติ ที่ ยัดเยียด ให้สาวเหนือ จะชี้แจงย้อนแย้งก็แค่นั้น สรุปว่า อะไรก็ได้ เอาที่สบายใจ หนักไปก็พบกันที่ศาล จบนะ!!!

ร่วมแสดงความคิดเห็น