สดร.เผยภาพดาวอังคาร มีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้น ชวนจับตา ใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี!!

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพชุดดาวอังคารมีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้นและสว่างมากขึ้น พายุฝุ่นเริ่มเบาบางลง มองเห็นขั้วน้ำแข็งและพื้นผิวได้ชัดเจนขึ้นมาก ชวนจับตา 31 ก.ค.นี้ ใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี ลุ้นฝน หากฟ้าใส เห็นชัดด้วยตาเปล่าทั่วไทย จัดสังเกตการณ์ 4 จุด ที่เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา ส่องขั้วน้ำแข็งดาวเคราะห์แดงผ่านกล้องโทรทรรศน์ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า สดร. เริ่มบันทึกภาพดาวอังคาร ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อนำมาศึกษาเปรียบเทียบขนาดปรากฏและความสว่างในช่วงที่ดาวอังคารโคจรเข้าใกล้โลกเรื่อย ๆ ภาพชุดดังกล่าวนำภาพถ่ายดาวอังคารมาเรียงเปรียบเทียบให้เห็นขนาดปรากฏที่ใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน และปรากฏเต็มดวงมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงมีความสว่างปรากฏมากขึ้นด้วยเช่นกัน สามารถมองเห็นขั้วน้ำแข็งและพื้นผิวดาวอังคารได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายในช่วงกลางเดือนมิถุนายนเกิดพายุฝุ่นขนาดใหญ่ปกคลุมพื้นผิวดาวอังคารเป็นบริเวณกว้าง จึงไม่สามารถเก็บรายละเอียดพื้นผิวดาวอังคารได้ชัดเจนเท่า 2 ปีก่อน
ภาพล่าสุดเป็นภาพดาวอังคารในคืนวันที่ 27 กรกฎาคม 2561 ซึ่งโคจรมาอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ เห็นลักษณะพื้นผิวได้ชัดเจนขึ้นมากกว่าช่วงก่อนหน้า เนื่องจากพายุฝุ่นเริ่มจางลง ภาพดาวอังคารทั้งหมดบันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของสดร. ที่ติดตั้ง ณ หอดูดาวดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
ดาวอังคารจะโคจรเข้าใกล้โลกเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ห่างเพียง 57.6 ล้านกิโลเมตร (ระยะห่างเฉลี่ยระหว่างโลกกับดาวอังคาร ประมาณ 225 ล้านกิโลเมตร) ในวันดังกล่าวดาวอังคารจะมีขนาดปรากฏใหญ่ที่สุด และสว่างที่สุดในรอบ 15 ปี อีกด้วย ดร.ศรัณย์ กล่าว

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงนี้จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์ดาวอังคาร เพราะมีความสว่างและมีขนาดปรากฏใหญ่มาก มองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกจนถึงรุ่งเช้า สดร. จัดสังเกตการณ์ “ดาวอังคารใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี” วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. เชิญชวนผู้สนใจส่องดาวอังคารแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ สัมผัสขั้วน้ำแข็งของดาวเคราะห์แดง พร้อมส่องวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจในคืนดังกล่าว อาทิ ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ณ 4 จุด สังเกตการณ์หลัก ได้แก่1) เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร. 081-8854353
2) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา โทร. 086-4291489
3) ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา โทร. 084-0882264
4) สงขลา : ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จ.สงขลา โทร. 095-1450411
และโรงเรียนเครือข่ายอีก 360 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบรายละเอียดได้ทาง www.NARIT.or.thกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250

ร่วมแสดงความคิดเห็น