“ขัวหลวงรัษฎา” อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของลำปาง

“เมืองรถม้า”ลำปาง นอกจากจะมีรถม้าและถ้วยตราไก่เป็นสัญลักษณ์แล้ว ยังมีสะพานรูปโค้งสีขาว “สะพานรัษฎา” เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์อีกด้วย โดยสะพานแห่งนี้เป็นคอนกรีตสริมเหล็กทาสีขาวโดดเด่นสะดุดตาด้วยรูปทรงโค้งคันธนูรวม 4 โค้ง ตั้งขวางเต็มลำน้ำ ทั้งยังมีสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงความเป็นมาอยู่หลายประการ ได้แก่ เสาสี่ต้น
ซึ่งตั้งอยู่ตรงหัวสะพานฝั่งละสองต้น เปรียบดังความมั่นคงแข็งแรงและสง่างาม, พวงมาลายอดเสา บนยอดเสาทั้งสี่ด้านของเสาทั้งสี่ต้น เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5, ครุฑหลวงสีแดง ประดับอยู่กลางเสาด้านหน้าทุกต้น ทั้งสองฝั่งหัวสะพาน บ่งบอกถึงตราสัญลักษณ์แห่งแผ่นดินสยามสมัยรัชกาลที่ 6, ไก่หลวงหรือไก่ขาว ที่ประดับตรงกลางเสาด้านข้างทุกต้น ทั้งสองฝั่งหัวสะพาน คือสัญลักษณ์ประจำนครลำปาง สื่อถึงสมัยเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต
คำว่า “มีนาคม 2460” กลางเสาด้านในทุกต้น ทั้งสองฝั่งหัวสะพาน บอกถึงวันที่สะพานแล้วเสร็จ และคำว่า “สะพานรัษฎาภิเศก” ตรงกลางคานเชื่อมโค้งสะพานคู่แรกทั้งสองฝั่งหัวสะพาน บ่งบอกถึงการได้รับพระราชทานนามนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สะพานรัษฎาภิเศกยืนหยัดอยู่เหนือแม่น้ำวังอย่างมั่นคง พาตัวเองผ่านพ้นวิกฤตมาอย่างโชกโชน ทั้งเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2463 ที่ท่อนซุงจำนวนมหาศาลทะยานไหลมากับสายน้ำเชี่ยวกราก ครั้นเมื่อเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิตทรงตัดสินใจที่จะระเบิดสะพานทิ้ง ระดับน้ำก็กลับลดลงเรื่อยๆ และอีกครั้งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี พ.ศ.2485 – 2488 ครูลูซี สตาร์ลิง ผู้อำนวยการโรงเรียนวิชชานารี ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ขอยกเว้นการทำลายสะพานรัษฎาภิเศก โดยเธอให้เหตุผลว่าจุดนี้มีเพียงทหารญี่ปุ่นที่เป็นเสนารักษ์และเป็นย่านโรงพยาบาล ไม่มีผลทางยุทธศาสตร์ใดๆ สะพานรัษฎาภิเศกจึงรอดพ้นการทิ้งระเบิดมาได้ แต่ก็ยังโดนกระสุนปืนจากเครื่องบินอยู่บ้าง

ร่วมแสดงความคิดเห็น