เชียงใหม่ห้องเรียนธรรมชาติ สูตรเกษตรสู่บริบทท่องเที่ยว

ด้วยความเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่กว่า 9,573,350 ไร่ และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ที่ราบเชิงเขา เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารมากมายหลายสาย ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำปิง,แม่แตง,แม่งัด,แม่กลาง,แม่ขาน ประกอบกับมีฝนตกเฉลี่ยทั้งปีราวๆ 133 วันหรือประมาณ 1,176 มม.ต่อปี ทำให้ เชียงใหม่ มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับการเพาะปลูก ใน 25 อำเภอ 204 ตำบล และ 2,066 หมู่บ้าน ประชากรจึงทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญๆอาทิ กระเทียม, หอมหัวใหญ่, ลิ้นจี่, ลำไย ,ส้มเขียวหวาน ไม้ดอก ไม้ผล พืช ผักต่างๆ กระจายส่งตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งจังหวัด(จีพีพี.)ต่อปีไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท กับประชากรที่มีในระบบทะเบียนราษฎร์ล้านกว่าคนนั้น เฉลี่ย จีพีพี. 126,976 บาทต่อคน หรือเดือนละ 10,581 บาท รายได้ต่อวันต่อคน มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเล็กน้อย ย้อนแย้งภาคการเกษตร ในแง่มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม ช่วงปี 2554-2558 ที่มีอัตราขยายตัวต่อเนื่อง 48,792 ล้านบาท โดยประมาณ ในปี 58 ซึ่งมีการใช้พื้นที่ เพื่อภาคการเกษตรน่าสนใจ เช่น เป็นที่นา 541,509 ไร่ พืชไร่ 209,421 ไร่ ที่ไม้ผล ไม้ยืนต้น 708,197 ไร่ ที่สวนผัก การปลูกไม้ดอก ไม้ประดับราวๆ 122,851 ไร่ เนื้อที่ป่าไม้ 9,678,957 ไร่ เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์นอกภาคเกษตรกรรมกว่า 1,057,978 ไร่ การถือครองที่ดิน จากพื้นที่ใช้ประโยชน์ภาคการเกษตร ที่เป็นตัวเลขในปีเดียวกัน (2558 ) มี1,829,976 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินเกษตรกร 648,146 ไร่ และเช่าที่ผู้อื่น 427,210 ไร่

เชียงใหม่ ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว สำคัญอีกแหล่ง เฉลี่ยต่อปีปลูกข้าวเจ้า 123,558 ไร่ ข้าวเหนียว 306,353 ไร่ ผลผลิตข้าวเจ้า 582 ไร่/กก.ส่วนข้าวเหนียว 634 ไร่/กก. โดยข้าวเจ้าปลูกมากใน อ.แม่แจ่ม 4 หมื่นกว่าไร่ ส่วนข้าวเหนียวจะปลูกมากที่ อ.แม่อาย และ อ.สันกำแพง ประมาณอำเภอละ 3 หมื่นกว่าไร่
นอกจากพืชผลผลิตตามฤดูกาล ยังมีการปลูกกาแฟ กว่า 28,662 ไร่ ชา 32,720 ไร่ ยางพารา 30,667 ไร่ และปาล์มน้ำมันอีก 2,096 ไร่ ในฤดูกาลเพาะปลูก 2558/59 ยังไม่นับรวม การปลูกมะม่วง ที่มีกว่า 55,336 ไร่ ลำไย 314,424 ไร่ ลิ้นจี่ 56,451 ไร่ ส้มเขียวหวาน 26,265 ไร่

ในส่วนภาคการปศุสัตว์ ฤดูกาลล่าสุด มีการเลี้ยงโคเนื้อ 116,135 ตัว โคนม 44,362 ตัว กระบือ 37,549 ตัว สุกร 324,716 ตัว ไก ประมาณ 6-7 ล้านตัว เป็ดอีก 5 หมื่นตัว ส่วนแพะ แกะ นั้นยังมีไม่มาก เป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นด้านศูนย์เรียนรู้ ผ่าน สถานีเกษตรที่สูงโครงการหลวง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีแกนหลักในวิทยา การ ภาคการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ป่าไม้ ทำให้ เชียงใหม่ เป็นเสมือน “ห้องเรียนธรรมชาติอันยิ่งใหญ่” สู่การวางรากฐานชีวิต และเพื่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นผลพลอยได้
หากวัดมูลค่าภาคการเกษตร ปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท ที่เกิดขึ้นในระบบ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด กับรายได้ภาคการท่องเที่ยวปีละ เกือบแสนล้านบาท กระบวนการพัฒนาทุกชุมชน จึงมักมุ่งเน้นการสอดประสานระหว่าง 2 ภาคเข้าด้วยกัน น่าจะเป็นสูตรผสมที่ลงตัว ในปัจจุบัน

ส่วนในอนาคต จะกำหนดเป้าหมายหรือส่งเสริมภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชนต้องดำเนินกิจกรรม โครงการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อรากฐานชีวิตที่อยู่ดี มีสุขของชาวเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น