สถาบันพลังงาน มช. ร่วมกับ อบก. เปิดประชุม “ผลการศึกษาเทคโนโลยีการลดก๊าซเรือนกระจก”

นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ให้เกียรติกล่าวเปิดงานการประชุมรับฟังความคิดเห็น “โครงการสำรวจเทคโนโลยีและศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจก” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการ และรองศาสตราจารย์ ดร.อิทธิชัย ปรีชาวุฒิพงศ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้การต้อนรับและกล่าวรายงานผลการดำเนินงานโครงการฯ และ ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร ในวันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม 2561ที่ผ่านมา
ภายในงานสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการบรรยายผลการศึกษาเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น จำนวน 40 เทคโนโลยี โดยแบ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 17 เทคโนโลยี และเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต จำนวน 19 เทคโนโลยี และเทคโนโลยีส่วนเสริมอีกจำนวน 4 เทคโนโลยี โดยได้ทำการสำรวจข้อมูลจากแหล่งทางวิชาการที่เชื่อถือได้ และครอบคลุมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น หลักการทำงานของเทคโนโลยี ราคาเงินลงทุน การประเมินศักยภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดทำต้นทุนต่อหน่วยการลดก๊าซเรือนกระจก และการวิเคราะห์ช่องว่างรายเทคโนโลยี เป็นต้น

การจัดประชุมในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมที่ประกอบด้วย ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรม และผู้เชี่ยวชาญตัวแทนจากภาคการศึกษา ผู้ผลิตและผู้นำเข้าเทคโนโลยีในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประกอบการดำเนินงานด้านการจัดการพลังงานขององค์กรต่อไป

คุณประเสริฐสุข กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนการปฏิรูปประเทศ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 ได้มีการระบุประเด็นที่สำคัญด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือ “ปฏิรูปที่ 3: ผลักดันทุกภาคส่วนให้ร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ที่ผ่านมา อบก. ได้มีการพัฒนาและส่งเสริมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ CDM โครงการ JCM และโครงการ T-VER เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในรูปแบบของการสำรวจเทคโนโลยีและศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นแนวทาง ในการตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเหมาะสมกับบริบทขององค์กร การดำเนินการได้มุ่งเป้าหมายไปที่การสำรวจข้อมูลเทคโนโลยีและศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจก ในแต่ละประเภทของโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น พลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการของเสีย และการจัดการภาคขนส่ง ให้ครอบคลุมเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนเทคโนโลยีที่เป็นส่วนสนับสนุนเทคโนโลยีหลักให้มีประสิทธิภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกได้ดียิ่งขึ้น
โดยข้อมูลดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ ในการกำหนดลำดับความสำคัญของการเลือกใช้เทคโนโลยีในด้านการใช้พลังงาน ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำทั้งประเทศ และเกิดความยั่งยืนในอนาคต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นตัวแทนหน่วยงานรัฐบาลไทย ในการส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์สากลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศภาคีมีความพยายามที่จะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส และประเทศไทยมีความตั้งใจที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20 จากกรณีปกติภายในปี พ.ศ. 2573 จึงได้จัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เกิดขึ้นได้ เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อ “โครงการสำรวจเทคโนโลยีและศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจก”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ กล่าวว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้พัฒนากลไกโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ขึ้น เพื่อเป็นกลไกลดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างสมัครใจ และส่งเสริมให้มีการปรับตัวมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และรองรับภารกิจข้อตกลงในการมีส่วนร่วม และมีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคตหลังปีพ.ศ. 2563 การดำเนินงานที่ผ่านมา มุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบและระเบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่รองรับเทคโนโลยีที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลหรือรายละเอียดของเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ยังไม่มีการรวบรวมเป็นหลักแหล่งที่ชัดเจน ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะเอื้อต่อการนำไปสู่การปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่น้อยลง และมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
อบก. จึงได้มอบหมายให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการสำรวจเทคโนโลยีและศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกในแต่ละประเภทได้แก่ ด้านพลังงานทดแทน ด้านการจัดการของเสีย ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน และด้านการขนส่ง ให้ครอบคลุมเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และเทคโนโลยีส่วนเสริมซึ่งเป็นเทคโนโลยีสนับสนุนเทคโนโลยีหลัก ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการในการกำหนดลำดับความสำคัญในการเลือกใช้เทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อำนวยความสะดวกด้านการวางแผนงาน และแผนการเงินสำหรับการเลือกใช้เทคโนโลยีตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้อย่างเหมาะสมกับบริบทขององค์กร รวมทั้งทำให้มองเห็นศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในอนาคตได้มากยิ่งขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น