ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทย์ มช. นำเยาวชนภาคเหนือ ร่วมโครงการต้นกล้าท้าหมอกควัน

ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทย์ มช. นำเยาวชนภาคเหนือ ร่วมโครงการต้นกล้าท้าหมอกควัน มุ่งสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง และสร้างความตระหนักปัญหาหมอกควันในเขตภาคเหนือ
ผศ.ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มช.กล่าวว่า โครงการ “ต้นกล้าท้าหมอกควัน” มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และปลุกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนรับรู้ถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากปัญหาหมอกควัน เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการติดตามตรวจสอบมลพิษที่เกิดจากปัญหาหมอกควันแก่ครู นักเรียน ในเขตจังหวัดภาคเหนือ
ตลอดจนเฟ้นหาโรงเรียนต้นแบบ ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในเขตจังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งสร้างเครือข่ายการติดตามตรวจสอบมลพิษ ที่เกิดจากปัญหาหมอกควันแก่ครู นักเรียน ในเขตจังหวัดภาคเหนือ อีกทั้งเพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรม สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้และถ่ายทอดแก่ชุมชน เพื่อลดปัญหาการเกิดหมอกควันในพื้นที่ของตนเอง ให้ชุมชนสามารถนำไปปฏิบัติจริง เพื่อป้องกันและเตือนภัยในเบื้องต้น
คณะผู้จัดโครงการ ได้เตรียมความพร้อมในการสร้างเครือข่าย เฝ้าระวังปัญหาหมอกควันในช่วงหน้าแล้งที่กำลังจะมาถึง เพื่อให้เยาวชนในเขตภาคเหนือตอนบน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนพลังเยาวชนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยกิจกรรมจะจัดขึ้น 3 แห่ง คือ มช. ม.พะเยา และ ม.ราชภัฏเชียงราย โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมทั้งหมด 36 โรงเรียน ครูและนักเรียนทั้งหมด 170 คน สำหรับ จ.เชียงใหม่ จัดที่หอประชุม NSP RICE GRAIN AUDITORIUM อาคารอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มช.เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561ที่ผ่านมา
โดยกิจกรรม จะมีการแจกต้นกล้าไม้ซับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และธงห้าสีเพื่อใช้ในการแจ้งเตือนชมชุนและโรงเรียนถึงระดับอันตรายของถาวะหมอกควัน มีการบรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์หมอกควันในปีที่ผ่านมา การวางแนวทางการสร้างโรงเรียนต้นแบบ ในการช่วยเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาหมอกควัน อีกทั้งยังมีกิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศของหนึ่งในโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน
“ต้นกล้าท้าหมอกควัน” จึงเป็นโครงการที่แสดงถึงพลังการขับเคลื่อนของเยาวชนภาคเหนือ ที่เห็นความสำคัญของปัญหาหมอกควัน และจะเป็นการสร้างเครือข่ายเยาวชนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต ทางศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มช. จึงขอเชิญชวนให้เยาวชนที่เล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ได้เข้าร่วมกิจกรรมในปีถัดไป สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ http://www.esrc.science. cmu.ac.th หมายเลขโทรศัพท์ 0-5394-3479

ร่วมแสดงความคิดเห็น