วัดศิลปะไทลื้อ โบราณ อายุ 210 ปี ยิ่งเก่ายิ่งสวย หลังคามุงด้วยแป้นไม้เกล็ด หาดูยาก

วันที่ 24 ส.ค 61 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไป วัดแสนเมืองมา ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา วัดแสนเมืองมา สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 ประมาณปี  2351 อายุ 210 ปี โดยสมัยนั้นเจ้าผู้ครองเมืองน่านได้กวาดต้อนชาวไทใหญ่มาจากเมืองมาง สหภาพพม่า มาอยู่หมู่บ้านแห่งใหม่ และเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้าน มาง” จากนั้นได้ชักชวนชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดขึ้น พร้อมกับตั้งชื่อว่า “วัดมาง” ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดแสนเมืองมา” มาจากชื่อหมู่บ้านมาง ในสิบสองปันนา ประเทศจีน มีเนื้อที่ 4 ไร่ 69 ตารางวา น.ส.3 อาณาเขต ทิศเหนือจดแม่น้ำ ทิศใต้จดหมู่บ้าน ทิศตะวันออกจดถนน ทิศตะวันตกจดถนน
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ วิหาร โรงเรียนพระปริยัติธรรม และกุฏิสงฆ์ ปูชนียวัตถุ มีพระประธานเป็นพระพุทธรูป สมัยเชียงแสน วัดแสนเมืองมา สร้างเมื่อ 2351 ได้รับพระ ราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2494 และทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ด้วย
พระครูสุนทรวุฒิสาร เจ้าอาวาสวัดแสนเมืองมา กล่าวว่า วัดแสนเมืองมา หรือ วัดมาง ก่อนที่จะมาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ในที่นี้ ได้อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ต่อมาจึงได้พากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ อ.เชียงคำ ประมาณปี 2351 วัดแสนเมืองมานั้น เป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งใน อ.เชียงคำ จุดเด่นของวัดอยู่ที่หลังคาวิหาร ที่ซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้นและทำจากไม้แป้นเกล็ด หลังคาประดับด้วยช่อฟ้าซึ่งทำเป็นรูปหงษ์หรือตัวนาคคาบแก้ว พร้อมประดับประดาด้วยไม้แกะสลักภาพนูน ตกแต่งด้วยสีต่าง ๆ งดงามมาก
ที่สำคัญตามผนังอุโบสถด้านใน ยังมีภาพวาดเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ ตั้งแต่เริ่มต้นมาอีกด้วย เป็น การสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม อันมีค่าของชาวไทลื้อ ที่ควรอนุรักษ์ให้คงอยู่ให้ลูกหลาน และอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา ส่วนประตูทางเข้าสู่พระอุโบสถ จะทำเป็น 3 มุข หรือ 3 ประตู ประตูใหญ่ อยู่ด้านหน้าเป็นประตูนาค มีพญานาคที่แปลกกว่าที่อื่น ๆ มุขด้านขาวเรียกว่าประตูเสือ มุขด้านซ้ายเรียกว่าประตูสิงห์ เป็นความเชื่อของไทลื้อในอดีต ที่ว่าสัตว์ทั้ง 3 นี้ จะคอยปกป้องคุ้มกันศาสนสถาน จึงนิยมปั้นรูปสัตว์เหล่านี้ไว้ตามวัดของหมู่บ้าน
ปูชนียวัตถุที่สำคัญ มีพระประธานเป็นพระพุทธรูป สมัยเชียงแสนเพื่อเป็นที่อนุรักษ์ศิลปะของชาวไทลื้อ ไม่ให้สูญหายไป เพื่อให้ลูกหลานคนรุ่นหลังได้สืบต่อไป สำหรับผู้ที่จะเดินทางมาเที่ยวชมวัดแสนเมืองมา มาเที่ยวดูชมได้เพราะวัดอยู่ติดกับ ถนนสายพะเยา-เชียงคำ อยู่ใกล้สถานีขนส่งในตลาด อ.เชียงคำ (บขส.เชียงคำ) หมู่ที่ 4 ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา

ร่วมแสดงความคิดเห็น