ชป.เตรียมพร้อมพื้นที่แก้มลิง บางระกำโมเดล 382,000 ไร่ รับน้ำหลาก ปี 61

กรมชลประทาน เตรียมพร้อมพื้นที่แก้มลิง รับน้ำหลากในโครงการบางระกำโมเดล 61 จำนวน 382,000 ไร่ หลังประสบความสำเร็จจากปีที่ผ่านมาพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่บ้านแม่ระหัน ต.บ้านกร่าง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เพื่อมอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำ เตรียมรับสถานการณ์น้ำหลาก และพบปะเกษตรกรในโครงการบาง ระกำโมเดล โดยมี นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผวจ.พิษณุโลก นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ผู้แทนฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนฝ่ายความมั่นคง ผู้แทนจากภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำ และชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากความสำเร็จของการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ลุ่มต่ำ หรือ โครงการบางระกำโมเดล 60 เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นซ้ำซากในพื้นที่ จ.โขทัย และ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ที่ในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองทัพภาคที่ 3 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กรมทางหลวง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ได้ปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ลุ่มต่ำเขตชลประทานให้เร็วขึ้น พื้นที่กว่า 265,000 ไร่
เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก ในช่วงวิกฤติของแม่น้ำยม ลดผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในเขตชุมชนและสถานที่ราชการ จ.สุโขทัย ในปี 2560 ที่ผ่านมา สามารถชะลอการระบายน้ำ ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้สูงสุดประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม.ประหยัดงบประมาณภาครัฐ ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านเกษตร ซึ่งในปี 2560 มีพื้นที่เสียหายเพียง 10, 400 ไร่ จากทุกปีที่มีความเสียหายกว่า 100,000 ไร่ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริม จากการทำอาชีพประมง รวมทั้งการจำหน่ายผลผลิต และสินค้าแปรรูปที่ได้จากโครงการสำหรับแผนการเพาะปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ลุ่มต่ำ หรือ โครงการบางระกำโมเดล ในปี 2561 นี้ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ให้นโยบายในการขยายผลโครงการเพิ่มพื้นที่อีก 117,000 ไร่ จากเดิม 265,000 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 382,000 ไร่ รองรับปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้น 550 ล้าน ลบ.ม. จากเดิม 400 ล้าน ลบ.ม.ครอบคลุมพื้นที่ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน 290,000 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานเรศวร 52,000 ไร่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล 40,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 5 อำเภอ 28 ตำบล 131 หมู่บ้าน
ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล 382,000 ไร่ ได้เริ่มทำการเพาะปลูกตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 และเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว จำนวน 374,524 ไร่ คิดเป็น 98% และอยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวเพียง 2% โดยคาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อน 31 สิงหาคม 2561 แน่นอน เพื่อให้พื้นที่ทั้งหมดพร้อมรองรับปริ มาณน้ำหลากตามแผนที่วางไว้
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำยมกรณีวิกฤติ กรมชลประทานได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล โดยเพิ่มการระบายน้ำในแม่น้ำยม ด้วยการผันลงแม่น้ำน่าน และในแม่น้ำยมสายเก่า พร่องน้ำเหนือประตูระบายน้ำต่างๆ ในระดับที่ต่ำกว่าระดับวิกฤติ 2-3 เมตร เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะผันมาจากแม่น้ำยมผ่านประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำในเขตชุมชน และเครื่องจักร รถขุดเข้าดำเนินการช่อมแซมคันดินเชิงป้องกันในพื้นที่ ที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งหากเกิดกรณีวิกฤติปริมาณน้ำมากเกินกว่าความสามารถการระบายที่จะผ่านแม่น้ำยม ในเขต อ.เมืองสุโขทัย จะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำในโครงการบางระกำโมเดล เป็นพื้นที่รองรับประมาณน้ำหลาก เพื่อป้องกันอุทกภัยในเขตชุมชนเมืองสุโขทัย
หลังจากนั้นในช่วงบ่าย รองนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก เพื่อร่วมประชุมการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร นอกเขตชลประทานที่มีน้ำน้อย พร้อมพบปะพูดคุยกับทีมนักบินฝนหลวงและ จนท.ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับ จนท.ทุกฝ่ายในการปฏิบัติหน้าที่

ร่วมแสดงความคิดเห็น