“เซลฟี” โรคจิตออนไลน์

ในยุคอินเตอร์เน็ตแบบนี้ทำให้เราได้เห็นรูปถ่ายของใครต่อใครได้ง่ายขึ้น และรูปที่เราเห็นก็มักจะเป็นรูปที่เจ้าของรูปถ่ายด้วยตัวเองในอิริยาบถต่างๆ พร้อมบรรยายภาพด้วยคำว่า #selfie หรือ #me โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์อย่าง Instagram และ Facebook พฤติกรรมของคนที่ถ่ายรูปตัวเอง แล้วแชร์ให้ใครต่อใครเห็นแบบนี้เรียกว่าการถ่ายรูป “Selfie”
กรมสุขภาพจิตได้ประกาศเตือนวัยรุ่นที่หลงใหลใน “เซลฟี” ว่า อาจเป็นสาเหตุให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเองและทำให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อชีวิตและการทำงานได้
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า มีความเป็นห่วงพฤติกรรมการเซลฟีของประชาชนในสังคมออนไลน์ กำลังกลายเป็นพฤติกรรมเคยชิน ซึ่งเป็นการสื่อสารแสดงออกถึงตัวตนบุคคลโดยถ่ายรูปตนเองในอิริยาบถต่างๆแล้วแชร์ภาพ เผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งการเซลฟี่นั้น มีความสำคัญกับความคิดในเรื่องตัวตนมาก มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
ทั้งนี้หากเซลฟีในลักษณะเหมาะสมคือไม่หวังผลจะไม่มีผลเสียอะไร เก็บไว้เป็นความประทับใจได้ แต่หากเซลฟีมีความถี่มากเพื่อให้เพื่อนๆมากดไลค์หรือเขียนข้อความแสดงความเห็นต่างๆ จนเกิดการหมกมุ่น อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น หรือความมั่นใจในตัวเอง

หากโพสต์รูปตัวเองไปแล้วและได้รับการตอบรับน้อย คนกดไลค์น้อย ไม่เป็นไปตามคาดหวังและโพสต์ใหม่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ จะส่งผลให้บุคคลนั้นขาดความมั่นใจและอาจไม่ชอบ ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง เกิดความกังวล ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อสะสมไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ได้ง่าย เช่น หวาดระแวง เครียด
นักจิตวิทยาอเมริกันเห็นว่าเซลฟีสามารถทำลายความมั่นใจหรือความภาคภูมิใจในตัวเองได้ โดยองค์กรที่ดูแลสุขภาพของประชาชนในสหราชอาณาจักรได้ออกมาประกาศว่า การติดสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟสบุคส์ และทวิตเตอร์ ถือเป็นความเจ็บป่วยประเภทหนึ่ง ซึ่งในทุกปีจะมีคนมากกว่า 100 คน ที่พยายามหาทางรักษาตัว
เพราะความเชื่อมั่นในตนเองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมีความพอใจในตัวเอง มีความสุข ยอมรับความจริง ไม่โหยหาความรักหรือความสนใจจากคนอื่น ดังนั้นการสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเองจึงสามารถทำให้คนๆ นั้นรู้สึกกระวนกระวาย ลังเลใจ และไม่มีความสุขในชีวิต ซึ่งการอยู่ในสภาพนี้เป็นเวลานานอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการแปรปรวนทางอารมณ์และจิตใจ เช่น โรคจิตหวาดระแวง (Paranoia) ขี้อิจฉา จู้จี้จุกจิก (Nitpicking) และซึมเศร้าหดหู่
นั่นหมายความว่า หากวัยรุ่นไทยขาดความมั่นใจในตนเองก็จะไม่สามารถกล้าทำสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตได้ มีแต่จะเดินตามหรือเลียนแบบคนอื่น ซึ่งทำให้การพัฒนาตัวเองเป็นไปได้ยาก การเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานจะเป็นไปได้ช้ากว่าคนที่มีความมั่นใจในตนเอง และอาจจะกระทบต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตได้ เพราะสภาวะผู้นำในคนรุ่นใหม่นั้นมีน้อยลง ทำให้ขัดขวางต่อการริเริ่มและนวัตกรรมของประเทศ

ร่วมแสดงความคิดเห็น