“เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ฟรี ภายใน 72 ชั่วโมงแรก

อาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะกับใคร ที่ไหน เมื่อไร ก็ย่อมต้องทุกข์ร้อนทั้งกายและใจอย่างแน่นอน “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” หรือ Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP เป็นนโยบายด้านสาธารณสุข ที่ต้องการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลฟรี ได้ที่ รพ.รัฐและเอกชน ที่ใกล้ที่สุด ภายใน 72 ชั่วโมง หรือพ้นภาวะวิกฤต ช่วยลดความแออัดใน รพ.ขนาดใหญ่ของรัฐได้ เพราะแทนที่ผู้ป่วยจะต้องจ่ายเงินค่ารักษาเอง แต่รัฐจะเป็นผู้ดูแลในส่วนนี้ให้ตามสิทธิที่แต่ละคนมี เช่น สิทธิข้าราชการ ประกันสังคม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ ถือเป็นรัฐสวัสดิการอย่างหนึ่ง
ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.60 – 30 ส.ค.61 มีผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับประโยชน์จำนวนมาก จากสถิติพบว่ามีผู้ที่เข้ารับการคัดกรองตามโครงการ UCEP ทั้งสิ้น 131,936 ราย และเป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ฉุกเฉินวิกฤต 25,655 ราย
สนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สรุปข้อมูลว่า ในจำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์มีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ป่วยมีแล้ว 24,416 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 15,780 ราย สิทธิเบิกกรมบัญชีกลาง 4,277 ราย สิทธิเบิกกองทุนประกันสังคม 3,384 ราย และสิทธิอื่น ๆ 975 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ แล้วอาการแบบใดบ้าง ที่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามหลักเกณฑ์ของ UCEP?
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
4. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6. มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
สำหรับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต 4 อันดับแรก ที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากที่สุด คือ
1) หายใจลำบาก/ติดขัด ร้อยละ 20.62
2) เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน ร้อยละ 14.13
3) อัมพาต แขนขาอ่อนแรง ร้อยละ 13.70
4) หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ร้อยละ 8.84
หลายคนอยากรู้ว่า UCEP รักษาฟรี 72 ชั่วโมงเท่านั้นหรือ?
ตามเงื่อนไขของ UCEP ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิรักษาพยาบาลได้ฟรี ภายใน 72 ชั่วโมง นับจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) รับผู้ป่วยเข้าระบบ

จากนั้น สพฉ. จะแจ้งให้กองทุนเจ้าของสิทธิทราบโดยเร็ว เพื่อให้แต่ละกองทุนประสานไปยัง รพ.ของผู้ป่วย และส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบปกติหลังจาก 72 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามสิทธิของตนเองต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุก รพ. ทำให้ประชาชนเกิดความอุ่นใจอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะพัฒนาปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้นต่อไป เช่น ผู้ป่วยบางรายถูกเรียกเก็บเงินแม้ว่าจะประเมินเบื้องต้น ว่าเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือขอใช้สิทธิ UCEP แต่ รพ.ไม่ยอมประเมินเกณฑ์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนควรดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง แต่หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา : ไทยคู่ฟ้า

ร่วมแสดงความคิดเห็น