ตามไปดู “แหล่งโบราณคดี” บ้านวังไฮในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญไชย

ดินแดนในภาคเหนือของประเทศไทย นับเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะดินแดนในอาณาจักรล้านนา ศิลปวัฒนธรรมนานัปการที่เคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ในล้านนายังคงทิ้งร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ไว้มากมาย ทั้งในด้านศิลาจารึก ตำนานท้องถิ่น โบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ด้านศิลปกรรมซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่น
จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดเล็กๆที่อยู่ภาคเหนือตอนบน ตั้งอยู่ในบริเวณแอ่งที่ราบเชียงใหม่ ลำพูน แต่แทบไม่น่านเชื่อว่าจะมีร่องรอยหลักฐานของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และถือได้ว่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สามารถจะสืบค้นเรื่องราว
การดำรงอยู่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในดินแดนแถบนี้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เมื่อปีพ.ศ. 2529 ขณะที่ชาวบ้านวังไฮกำลังขุดบ่อเลี้ยงปลาอยู่นั้นได้ปรากฏพบโครงกระดูกมนุษย์พร้อมด้วยภาชนะดินเผาเครื่องมือหินและเครื่องมือโลหะจำนวนหนึ่ง ที่หมู่บ้านบ้านวังไฮซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองลำพูนมาทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร ในบริเวณที่ราบฝั่ง
ตะวันออกของแม่น้ำกวงเป็นที่ขุดพบโครงกระดูกของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
การขุดค้นศึกษาทางด้านโบราณคดีที่บ้านวังไฮเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2530 โดยกรมศิลปากร และปี พ.ศ.2539 – 2541 ได้มีการขุดค้นโดยโครงการศึกษาวิจัยก่อนประวัติศาสตร์ร่วมไทย – ฝรั่งเศส (Thai – French Prehistoric Research Project) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง
ฝ่ายวิชาการสำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่กับคณะนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส ได้ทำการศึกษาเรื่อง “ลำดับ ขั้น อายุสมัยและวิวัฒนาการของวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ รวมถึงลักษณะทางด้านมานุษยวิทยา จากยุคหินเก่าถึงยุคเหล็กในภาคเหนือ
ตอนบนของประเทศไทย”
การขุดค้นที่ผ่านมาได้พบโครงกระดูกมนุษย์ผู้ใหญ่และโครงกระดูกเด็กที่ระดับความลึกระหว่าง 0.60 – 1.60 เมตร พร้อมสิ่งของอุทิศให้ผู้ตายหลายอย่าง เช่น เครื่องมือเหล็กประเภทมีด ใบหอก สิ่ว ขวานและเคียว ภาชนะดินเผาเจาะรูที่ขอบปากไว้สำหรับร้อยเชือกห้อย เป็นหม้อทรงกลม ก้นตัดแบน ปากผายชามดินเผาหม้อทรงกลม คอเว้าสูงปากผาย 2 ใบประกบกัน เป็นหม้อบรรจุกระดูก ลูกปัดแก้วสีฟ้า สีเหลือง สีส้ม สีแดง ลูกปัดหินคาร์เนเลียนสีส้ม ลูกปัดเปลือกหอย ตุ้มหูที่ทำจากแก้วลักษณะกลมแบนตัดกลาง แวดินเผา ลูกกระสุนดินเผา กำไลสำริดแบบแผ่นกลมแบนและแบบประดับด้วยลูกกระพรวนโดยรอบแหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮเป็นที่ฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistoric Period)
โดยจะฝังศพในลักษณะท่านอนหงายเหยียดยาว แขนทั้งสองข้างแนบลำตัว หันศรีษะไปทางทิศตะวันออก – ทิศตะวันออกเฉียงใต้หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ ลักษณะของการฝังศพมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์คล้ายกับการฝังศพมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานไว้ว่าน่าจะอยู่ในช่วงสมัยเดียวกันสิ่งของที่บรรจุร่วมกับศพส่วนมากจะอยู่ทางด้านขวา โดยเฉพาะเครื่องมือเหล็กที่วางไว้ตั้งแต่ศรีษะจนถึงราวต้นแขนขวาและที่ลำตัว เครื่องประดับกำไลสำริดยังคงสวมอยู่ที่ข้อมือทั้งสองข้าง และลูกปัดอยู่โดยรอบคอในลักษณะร้อยเป็นเส้น เฉพาะที่โครงกระดูกของเด็กมีลูกกระสุนดินเผาวางกองไว้ที่บริเวณคอด้วย ส่วนภาชนะดินเผาจะวางอยู่ตั้งแต่บริเวณแขนขวา ปลายเท้าซ้ายและศรีษะด้านซ้าย ซึ่งจากหลักฐานที่พบเหล่านี้อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนโบราณบ้านวังไฮเป็นชุมชนโบราณในยุคโลหะ (Metal Age) ซึ่งใช้เหล็กเป็นเครื่องมือและใช้สำริด
เป็นเครื่องประดับ น่าที่จะมีอายุอยู่ในราว 2,800 – 3,000 ปีมาแล้ว การค้นพบเครื่องมือหินร่วมอยู่ด้วยแสดงให้เห็นถึงการสืบทอดของกลุ่มชนที่ต่อเนื่องมายาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงยุคต้นของประวัติศาสตร์และพัฒนามาจนเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยหริภุญ
ไชย
ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮได้ถูกไถปรับพื้นที่และล้อมรอบไปด้วยนาข้าวไปแล้ว คงเหลือไว้แต่อดีตที่ได้ศึกษาและมีเอกสารบันทึกเรื่องราวของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์นี้เพียงไม่กี่ฉบับ แต่อย่างน้อยเราก็ได้รับรู้ถึงเรื่องราวอันทรงคุณค่าของประวัติศาสตร์ที่ก่อ
กำเนิดในเมืองลำพูน สำหรับท่านที่สนใจศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์บ้านวังไฮ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญไชย จังหวัดลำพูนได้จัดแสดงการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮให้ผู้สนใจได้เข้าชม สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-5353-0536
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น