คลายปมข้อสงสัย ขอบข่ายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ?

หลายคนที่กำลังสับสนเกี่ยวกับบริการด้านสุขภาพ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (หรือจะเรียกว่าสิทธิบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ได้) ว่า รักษาได้เฉพาะใน รพ.รัฐเท่านั้นหรือไม่ และระบบนี้ไม่คุ้มครองการรักษาโรคจิต โรคเรื้อรัง หรือผู้ติดยาเสพติด ที่จริงแล้วเป็นอย่างไร
เรามาไขข้อข้องใจกัน
(1) รักษาได้ทั้ง รพ.รัฐ-เอกชน
ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง/30 บาทรักษาทุกโรค) สามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง รพ.รัฐและเอกชน ตามที่ประชาชนได้เลือกลงทะเบียนไว้แล้ว โดยปัจจุบัน (ส.ค.61) มี รพ.เอกชนทั่วประเทศเข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งสิ้น 178 แห่ง และคลินิกเอกชน 350 แห่ง

(2) คุ้มครองการรักษาทั้งกรณีโรคจิต หรืออาการป่วยทางจิต โรคเรื้อรัง และผู้ติดยาเสพติด
– กรณีโรคจิตหรืออาการป่วยทางจิต ที่ต้องรักษาเกิน 15 วัน หากแพทย์เห็นว่าจำเป็น ก็สามารถรับบริการได้
– กรณีโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ต้องรักษาเป็นเวลานาน ๆ เป็นโรคที่ได้รับความคุ้มครองในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
– กรณีบำบัดผู้ติดยาเสพติด หากเป็นการเข้ารับการรักษาโดยสมัครใจ จะได้รับความคุ้มครองในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่วนการบังคับบำบัด อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงยุติธรรม
มารู้จักระบบประกันสุขภาพของไทยกัน

ระบบประกันสุขภาพของไทย มี 3 ระบบหลัก คือ
(1) ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ คุ้มครองข้าราชการและบุคคลในครอบครัว
(2) ระบบประกันสังคม คุ้มครองลูกจ้าง/แรงงาน ในระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ
(3) ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คุ้มครองคนไทย ที่ไม่มีสิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิอื่น ๆ ที่รัฐจัดให้พัฒนาการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
จากข้อจำกัดของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในอดีต รัฐบาลชุดปัจจุบันได้อุดช่องโหว่และปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนงบประมาณ เพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนอย่างมีคุณภาพ
ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ ให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ย 4.6% ต่อปี มากกว่าเมื่อก่อนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 3.3%
ปี 2558 งบภาพรวม 153,152 ล้านบาท งบเหมาจ่ายต่อหัวประชากร 3,150.88 บาท อัตราเพิ่มจากปีก่อน -0.2%
ปี 2559 งบภาพรวม 163,152 ล้านบาท งบเหมาจ่ายต่อหัวประชากร 3,344.17 บาท อัตราเพิ่มจากปีก่อน +6.1%
ปี 2560 งบภาพรวม 169,752 ล้านบาท งบเหมาจ่ายต่อหัวประชากร 3,478.33 บาท อัตราเพิ่มจากปีก่อน +4.0%
ปี 2561 งบภาพรวม 175,560 ล้านบาท งบเหมาจ่ายต่อหัวประชากร 3,597.76 บาท อัตราเพิ่มจากปีก่อน +3.4%
ปี 2562 งบภาพรวม 181,584 ล้านบาท งบเหมาจ่ายต่อหัวประชากร 3,738.22 บาท อัตราเพิ่มจากปีก่อน +3.9%
โดยในปี 2561 รัฐบาลได้จัดสรรงบกลาง 4,186 ล้านบาท เพิ่มเติมให้ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหา รพ.ที่ประ สบภาวะวิกฤตทางการเงิน โดยสนับสนุนเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน ทำให้ รพ.สามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น ช่วยลดจำนวน รพ.ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีวิกฤตทางการเงินลง 90% จากจำนวน 136 แห่ง ที่มีวิกฤตรุนแรงในปี 2558 เหลือเพียง 13 แห่ง ในปี 2561
นอกจากนี้ ยังขยายบริการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคที่จำเป็น เช่น
– เพิ่มสิทธิการได้รับวัคซีนจำเป็นพื้นฐาน ทั้งวัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค คือ โรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และไวรัสตับอักเสบบี รวมไปถึงวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ฯลฯ
– การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เนื่องจากมะเร็งลำไส้เป็นปัญหาสำคัญลำดับ 3 ของไทย โดยประชาชนไปพบหมอใกล้บ้าน หากพบความเสี่ยงของโรค จะถูกส่งต่อไปตรวจเนื้อมะเร็งต่อไป
เพิ่มและพัฒนาบริการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น…
– เพิ่มการเข้าถึงยาราคาแพงสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่ร้ายแรง มีค่าใช้จ่ายสูงทั้งสิ้น 11 รายการ เช่น ยารักษามะเร็ง 4 รายการ ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง ยาป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ยารักษาโรคหลอดเลือดตาในจอตาอุดตัน เป็นต้น
– ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 55 ปี ผ่าข้อเข่าเสื่อมฟรี
– ให้ผู้ป่วยที่ผ่าตัดลำไส้และต้องมีการขับถ่ายทางหน้าท้อง สามารถได้รับอุปกรณ์ถุงทวารเทียม ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นฯลฯ
ลดความแออัดใน รพ. โดยสนับสนุนการผ่าตัดแบบไม่ต้องนอน รพ. หรือที่เรียกว่า One day surgery เน้นการผ่าตัดโรคที่ไม่ซับซ้อน ให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็ว ไม่ต้องนอน รพ. รวมทั้งการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดี ล่าสุดได้ยกเลิกเก็บ 30 บาท ในกลุ่มประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยลดอุปสรรคการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน
การที่คนไทยได้รับความคุ้มครอง ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ช่วยป้องกันไม่ให้ครัวเรือน ไทย ต้องแบกรับภาระจากค่ารักษาพยาบาลมากเกินตัว โดยลดลงจาก 2.23% ของครัวเรือนทั้งหมดในปี 2557 เหลือ 2.09% ในปี 2560 ครัวเรือนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน หลังจากจ่ายค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ลดลงจาก 0.46% ของครัวเรือนทั้งหมด ในปี 2557 เหลือ 0.29% ในปี 2560
ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า การที่คนไทยโดยเฉพาะผู้ยากไร้ ได้รับการคุ้มครองหลักประกันสุข ภาพแห่งชาติ จากการที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้จ่ายและเพิ่มการบริโภคของครัวเรือน ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนองค์การอนามัยโลก ได้ยกย่องให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบ ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประเทศอื่น ๆ ในโลกด้วย

สำหรับการดูแลสุขภาพประชาชนในรูปแบบอื่น ๆ ที่เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง ยังมีอีกหลายมาตรการ เช่น
– โครงการคลินิกหมอครอบครัว ที่มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคน มีแพทย์ประจำครอบครัว เป็นด่านแรกในการรับบริการสุขภาพ ก่อนไปรักษาต่อที่ รพ.ขนาดใหญ่
– การดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยติดเตียงอยู่ที่บ้าน จะมีทีมแพทย์และบุคลากรจากกระทรวงสาธารณสุข ไปดูแลถึงที่บ้าน
– นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP ให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษาใน รพ.รัฐ หรือเอกชนใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใน 72 ชั่วโมงแรก หรือจนกว่าจะพ้นวิกฤต โดยเฉพาะโรคเส้นเลือดสมองแตก และโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โดยผู้ป่วยจะได้รับยาละลายลิ่มเลือดซึ่งมีราคาแพง ช่วยให้ผู้ป่วยรอดพ้นจากการเสียชีวิตหรือเป็นอัมพาตได้

ไม่เพียงดูแลประชาชนผู้รับบริการเท่านั้น รัฐบาลยังได้ขยายการบรรจุพยาบาลวิชาชีพเป็นข้าราชการ 8,700 อัตรา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการมากขึ้นด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น