พม.เตือนสังคมเฝ้าระวัง และร่วมแก้ปัญหาภัยออนไลน์ ต่อเด็ก เยาวชน และความรุนแรงในครอบครัว

วันนี้ (4 ต.ค. 61) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กทม. นางสุวรีย์ ใจหาญ ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯแถลงรายงานสถานการณ์ทางสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2561 ซึ่งประเด็นสำคัญที่ควรเตือนสังคมให้เฝ้าระวัง ได้แก่ ประเด็นภัยออนไลน์ต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว และประเด็นความรุนแรงในสังคม นางสุวรีย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (พม.) ในฐานะหน่วยงานหลักของรัฐบาลในการดำเนินงานด้านสังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ ได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคมอย่างต่อเนื่อง และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ สำหรับรายงานสถานการณ์ทางสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2561 ไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม – กันยายน 2561) มีสถานการณ์เด่นที่สำคัญ ดังนี้ 1) ภัยออนไลน์ต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว พบว่า ปัจจุบัน ปัญหาสื่อลามก และการล่วงละเมิดทางเพศเด็กบน Internet ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคม
ดังนั้น เด็กไทยจึงมีความเสี่ยงภัยสูงบนโลกออนไลน์ โดยประเด็นที่น่าห่วงใย คือ เด็ก เยาวชน และครอบครัวไม่รู้เท่าทันการใช้สื่อ และมีความเสี่ยงในการทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยภัยออน ไลน์ที่พบมากที่สุด คือ การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ การเข้าถึงสื่อลามก การพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ การติดเกมส์ และการถูกล่อลวง เป็นต้น ทั้งนี้ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวง พม. เห็นควรมีการปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองเด็ก จากการใช้สื่อออนไลน์ การส่งเสริมให้พ่อแม่รู้จักใช้สื่อออนไลน์ และการตั้งค่าความปลอดภัยสำหรับเด็ก รวมทั้งควรมีการรายงานการเฝ้าระวัง และขับเคลื่อนการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในการใช้สื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
2) ปัญหาความรุนแรงในสังคมยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัญญาณอันตรายเกิดขึ้นกับครอบครัวไทย โดยพบว่า ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรี เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 83.6 เฉลี่ย 5 รายต่อวัน โดยในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบข่าวความรุนแรงในครอบครัวจากหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ สูงถึง 367 ข่าว เฉลี่ยเดือนละ 20 ข่าว เป็นข่าวฆาตกรรมในครอบครัว ร้อยละ 65 โดยอาวุธที่ใช้มากที่สุด คือ ปืน ซึ่งมีสาเหตุจากการบันดาลโทสะ หึงหวง และเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยว ข้อง และร้อยละ 94.9 ของผู้พบเห็นความรุนแรง เลือกที่จะนิ่งเฉย ไม่เข้าไปช่วยเหลือ
สำหรับประเด็นที่น่าห่วงใย คือ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องใกล้ตัว หากเพิกเฉยอาจกลายเป็นอาช ญากรรมในครอบครัวได้ ทั้งนี้ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวง พม. เห็นควรผลักดันให้ การยุติความรุนแรงในสังคมเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการรณรงค์สร้างความตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว การร่วมกันต่อต้านการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ การให้ความสำคัญกับการป้องกัน แก้ไขปัญหา โดยเริ่มต้นจากภายในครอบครัว นอกจากนี้ กระทรวง พม. ขอเชิญชวนผู้เกี่ยวข้องร่วมกันเตือนภัย และรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยพร้อมบูรณาการการทำงานเชิงรุก ร่วมกับทุกภาคส่วนทุกระดับ เพื่อมุ่งสู่คนอยู่ดีมีสุขในสังคมคุณภาพ
ที่มา : รัฐบาลไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็น