ชุนชนวัดเกตุ แหล่งการค้าทางเรือของเมืองเชียงใหม่ในอดีต

ชุมชนท่าวัดเกต เป็นชุมชนโบราณตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก จากเอกสารของวัดเกตการามระบุว่า วัดนี้สร้างขึ้นราว พ.ศ.1971 รัชสมัยพญาสามประหญาฝั่งแก่น (พ.ศ.1945-1984) กษัตริย์ล้านนาราชวงศ์มังราย ลำดับที่ 8 ตามเอกสารนี้ วัดเกตการาม น่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า 560 ปี จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุถึงท่าวัดเกต เมื่อ จ.ศ.1098 หรือ พ.ศ.2270 สมัยที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่บ้านเมืองไม่สงบ มีการส้องสุมผู้คนแย่งชิงความเป็นใหญ่รบราฆ่าฟันกันอยู่เสมอ โดยตำนานได้กล่าวถึงเหตุการณ์ไม่สงบตรงท่าวัดเกตไว้ว่า “…ขณะยามนั้น ยังมีเจ้าตน 1 ชื่อเจ้าองค์นก เปนกระกูล(ตระกูล)ล้านช้าง มีริพล 300 มาอยู่ริมฝั่งแม่ระมิงท่าวัดเกต (บางฉบับใช้วัดเกฏ)..”
ในปี พ.ศ.2270 เจ้าองค์นกสืบเชื้อสายเมืองหลวงพระบางล้านช้าง รับอาสาพม่ารบกับเทพสิงห์ คนเมืองยวนที่เข้ามายึดเชียงใหม่ สมัยพม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ วัดเกต ยังคงมีความสำคัญต่อพม่ามาก ในปี พ.ศ.2121 พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่าทรงมอบหมายให้ สาวถีนรตรามังชอศรีมังนรธาช่อ เจ้าเมืองเชียงใหม่บูรณะเจดีย์วัดเกตการาม วัดชัยพระเกียรติ วัดปราสาท ซึ่งได้เสียหายพังทลาย ลงมาพร้อมกับเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวงคราวแผ่นดินไหวครั้งใหม่สมัยพระนางจิรประภา เสร็จแล้วมีการกัลปนา (มอบถวาย) สิ่งของและผู้คนเพื่อเป็นข้าวัด หรือข้าพระธาตุวัดเกต โดยคนเหล่านี้จะทำหน้าที่ดูแลรักษาวัดและพระธาตุได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานและถูกเก็บภาษี และในปี พ.ศ.2269 สมัยมังแรร่า เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ก็มีการบูรณะวัดเกตอีกครั้งหนึ่ง
จากเอกสารในท้องถิ่นวัดเกตการาม น่าจะสร้างก่อน พ.ศ.2121 เพราะโดยปกติในสมัยโบราณ ชุมชนของชาวบ้านจะมีพัฒนาการขึ้นก่อนการสร้างวัดวาอาราม เพราะถ้าบ้านเมืองสงบมั่นคงมั่งคั่งมีทรัพย์สมบัติเงินทอง เหลือพอกินพอใช้ จึงได้สร้างหรือบูรณะวัดวาอาราม อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาให้มั่นคงรุ่งเรืองควบคู่ไปกับชุมชนบ้านและเมือง ดังนั้นชุมชนวัดเกตน่าจะตั้งขึ้นมาก่อนปี พ.ศ.2121

ชุมชนวัดเกตมีพัฒนาการมาตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2000-2030 เพราะอยู่ในยุคที่เชียงใหม่สมัยราชวงศ์มังรายมีความเจริญรุ่งเรืองคือสมัย พญาสามประหญาฝั่งแก่น หรือ สามฝั่งแกน และพญาติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) ชุมชนวัดเกตตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิงใกล้กับตัวเมือง จึงมีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม โดยเฉพาะด้านการเดินทางขนส่ง มีสินค้าจากหัวเมืองต่าง ๆ ทางตอนบน ลงสู่แม่น้ำปิงที่ท่าวัดเกตไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ ทางตอนใต้จึงมีคนต่างบ้านต่างเมืองเดินทางผ่านไปมาอยู่เสมอ ชุมชนวัดเกตจึงมีพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่ยาวนาน

แม่น้ำปิงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่การสร้างเมือง โดยในปี พ.ศ.1835 พญามังรายยึดเมืองลำพูนได้ 2 ปีต่อมาใน พ.ศ.1837 ทรงสร้างเวียงกุมกาม (เขตอำเภอสารภี) แต่มีปัญหาด้านทำเลที่ตั้ง ที่แม่น้ำปิงล้นตลิ่งท่วมเป็นประจำ ดังนั้นในปี พ.ศ.1839 พญามังรายจึงได้เลือกชัยภูมิใหม่ ซึ่งพิจารณาจากระบบนิเวศเมืองในด้านต่างๆ เช่น แหล่งน้ำ ดิน ฟ้า อากาศ ที่ตั้งเมืองใหม่ในที่ราบเชิงดอยสุเทพ ลักษระทำเลที่ตั้งดอยสุเทพอยู่ด้านหลังแม่น้ำปิงอยู่หน้าเมือง ที่ราบเทลาดไปทางตะวันออก เชียงใหม่จึงเป็นเมืองที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 700 ปีจนถึงปัจจุบัน มิได้รกร้างไปดังเช่น สุโขทัยหรืออยุธยา ซึ่งได้รับความเสียหายจากสงคราม ในทางการเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของหัวเมืองต่างๆในล้านนาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย สมัยพม่าปกครองเชียงใหม่ระหว่างปี พ.ศ.2101-2317
เชียงใหม่มีความสำคัญต่อพม่าในด้านการเมืองและการทหาร บุเรงนองต้องการให้เป็นศูนย์อำนาจควบคุมหัวเมืองไทใหญ่ เชียงตุง สิงสองพันนาและในล้านนา การเสียกรุงศรีอยุธยาทั้งสองครั้ง ในปี พ.ศ.2112 และ 2310 พม่าได้ใช้เชียงใหม่เป็นฐานกำลังคนและเสบียงอาหารในการเข้ายึดอยุธยา และในปี พ.ศ.2307 พม่าได้ใช้แม่น้ำปิงเป็นเส้นทางการขนข้าว จากชุมชนสำคัญทางใต้เช่น สบทา ในเขตเมืองลำพูนขึ้นมาเลี้ยงกองทัพที่เชียงใหม่ด้วยเหตุนี้เองน้ำจึงมีความสำคัญและมีคุณต่อมนุษย์ ก่อให้เกิดวัฒนธรรม ชุมชน สังคมและชาติ เมืองสำคัญ ๆ ในที่ราบระหว่างแม่น้ำคงและแม่น้ำโขงตอนกลาง ล้วนมีพัฒนาการมาจากการตั้งถิ่นฐานจากแหล่งน้ำทั้งสิน เช่น หริภุญชัย เชียงรุ่ง เชียงตุง เชียงแสน เชียงราย เชียงทอง (หลวงพระบาง) เชียงใหม่ เป็นต้น ร่องรอยของชื่อบ้านนามเมืองที่ปรากฏล้วนตั้งขึ้นมาจากชื่อของแม่น้ำสายต่าง ๆ ทั้งสิ้น เช่น แม่ริม แม่แตง แม่วาง แม่แจ่ม แม่ทา แม่ลาว แม่ใจ แม่วัง แม่สา แม่สาย แม่จริม ฯลฯ
ในสมัยเจ้าเจ็ดตน รัฐบาลกรุงเทพฯให้ความสำคัญต่อเชียงใหม่ในฐานะเป็นหัวเมืองขนาดใหญ่ที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางของล้านนาด้านเศรษฐกิจ เชียงใหม่เป็นชุมทางการค้าที่สำคัญทั้งทางบกและทางน้ำมาตั้งแต่สมัยสร้างเมืองเชียงใหม่ ท่าวัดเกตบนฝั่งตะวันออกจึงเนืองแน่นคราคร่ำไปด้วยผู้คนหลากหลาย ต่างบ้านต่างเมือง บ้างก็มาตั้งถิ่นฐานค้าขาย บ้างก็เดินทางผ่าน
ในยุคที่พม่าได้หมดอิทธิพลไปจากที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน ตั้งแต่ราวปี พ.ศ.2317-2325 จนกระทั่งพระเจ้ากาวิละและญาติพี่น้องยกกำลังจากเวียงป่าซางเข้ามาตั้งที่เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2339 แล้ว ได้บูรณะปฏิสังขรณ์บ้านเมืองและวัดวาอารามให้มั่งคงรุ่งเรือง ชุมชนวัดเกตและท่าวัดเกตก็กลับมามีความสำคัญและคึกคักขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะที่เป็นชุมชนทางการค้าทางบก พ่อค้าจีนฮ่อ พ่อค้าเงี้ยว (ไทใหญ่) พ่อค้าวัวต่างในท้องถิ่นและจากหัวเมืองทางตอนบน เช่น เมืองฝาง เชียงราย เชียงแสน เชียงของ ท่าขี้เหล็ก ท่าเดื่อ เมืองวะ เมืองเล็น เมืองพะยาก เชียงตุง เชียงลาบ เมืองยอง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองต่าง ๆ ในสิบสองพันนา เช่น เมืองลวง เชียงรุ่ง เมืองฮาย เลยขึ้นไปถึงเมืองซือเหมาหรือเมืองลาฮ่อและเมืองคุนหมิง หัวเมืองไทใหญ่ด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำคงหรือแม่น้ำสาละวิน เช่น เมืองปุ เมืองปั่น เมืองนาย ด้านตะวันออกได้แก่ เมืองแพร่ เมืองน่าน บ่อแก้ว เวียงภูคา หลวงน้ำทา หลวงพระบาง เป็นต้นผู้คนและสินค้านานาชนิดจากพ่อค้าทางไกลหลายบ้านต่างเมืองทางตอนบน เข้าสู่เชียงใหม่ผ่านท่าวัดเกตลงบรรทุกเรือหางแมงป่องล่องแม่น้ำปิง ผ่านชุมชนทางการค้าทางตอนใต้และตอนล่างได้แก่ ท่าวังพร้าว สบทา ปากบ่อง ป่าซาง เวียงหนองล่อง สบลี้ จอมทอง สามเงา ระแหง (ตาก) เรือสินค้าบางส่วนเลยไปจนถึงปากน้ำโพ นครสวรรค์ สิ้นสุดบางกอก(กรุงเทพ) ออกทะเลที่อ่าวไทยมีสินค้าที่หลากหลายชนิดผ่านท่าวัดเกตสินค้าจากเชียงใหม่และหัวเมืองต่าง ๆ ทางตอนบน โดยคาราวานพ่อค้าวัว ม้า ลาต่างและช้าง ได้แก่ น้ำรัก ไม้ฝาง งาช้าง นอแรด ครั่ง หนังสัตว์ป่า ข้าว น้ำตาล ยาสูบ ผ้าไหม ฯลฯ
สินค้าจากทางเรือบนเส้นทางแม่น้ำปิง จากทางใต้ได้แก่ ฝ้าย ผ้าฝ้าย น้ำมันก๊าด เทียนไข ไม้ขีดไฟ บุหรี่ เกลือทะเล เป็นต้น
เส้นทางการค้าอีกทางหนึ่งขึ้นบกที่ระแหง เชื่อมต่อโดยคาราวานพ่อค้าวัวต่าง ม้าต่าง ผ่านเมืองแม่สอด เมียวดี ข้ามแม่น้ำสาละวินหรือน้ำคงไปออกทะเลที่เมืองเมาะตะมะหรือเมืองมะละแหม่ง เมืองท่าสำคัญบนฝั่งทะเลอันดามันในอ่าวเบงกอล จะเห็นว่า การที่ชุมชนวัดเกต ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิงจึงมีโอกาสที่จะติดต่อเชื่อมโยงกับชุมชนการค้าอื่น ๆ ทั้งใกล้และไกลออกไป ดังกล่าวข้างต้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีผู้คนเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายและตั้งถิ่นฐาน หลายเชื้อชาติ
หมายภาษา รัฐบาลกรุงเทพฯจึงได้ให้ความสำคัญกับเชียงใหม่มากกว่าหัวเมืองอื่นในล้านนา เพื่อควบคุมดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือหรือหัวเมืองล้านนาทั้งหมด พระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) พระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลพายัพ ล้วนพำนักอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ทั้งสิ้น
ในปี พ.ศ.2345 พระเจ้ากาวิละ นำขบวนเรืองเครื่องบรรณาการ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ล่องไปตามแม้น้ำปิง ใช้เวลา 20 วันจึงถึงกรุงเทพ ครั้งนี้พระเจ้ากาวิละได้รับการโปรดเกล้าฯให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น พระเจ้าเชียงใหม่ และทรงมอบหมายให้มาเมืองเชียงใหม่ ใช้เวลา 45 วัน ทางเชียงใหม่โดยเจ้าอุปราชธรรมลังกา ได้จัดเตรียมพิธีสมโภชอันยิ่งใหญ่ ขบวนเรือได้เข้าเทียบท่าวัดเกต เมื่อเดือนยี่ แรม 11 ค่ำวัน 5 จ.ศ.1164 (พ.ศ.2345) จากนั้นจึงเคลื่อนขบวนแห่ข้ามแม่น้ำปิงไปฝั่งตะวันตก เป็นที่ตั้งของคุ้มหลวงในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พ.ศ.2399-2413) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 ศาสนาจารย์เดเนียล แมคกิลวารี (Danial McGillvalie) และคณะหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันเดินทางโดยทางเรือมาถึงเชียงใหม่เป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 3 เมษายน 2409 ก็ได้เลือกเชียงใหม่บริเวณชุมชนวัดเกต เป็นที่ตั้งสถานี (Mission) แห่งแรกเพื่อการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนส์ ปัจจุบันคือบริเวณโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียนและโบสถ์คริสต์จักรที่ 1 เชิงสะพานนวรัฐ
เมื่อปี พ.ศ.2451 เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8 พระเชษฐาพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรัชกาลที่ 5 พระราชชายาได้กราบบังคมทูลลาขึ้นมาเชียงใหม่พร้อมกับพระเชษฐา โดยเสด็จออกจากกรุงเทพโดยทางรถไฟ สิ้นสุดที่ปากน้ำโพ จากนั้นเสด็จโดยทางเรือจากเมืองตากมีเรือร่วมในขบวนประมาณ 50 ลำ ใช้เวลา 56 วันถึงเมืองเชียงใหม่
ในอดีตมีผู้ที่เขียนหนังสือและเรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำปิงไว้มากมาย เล่มแรกได้แก่ศาสนาจารย์แดเนียล แม็คกิลวารี หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันที่ตั้งกรรากอยู่ในเชียงใหม่ เขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2407 มีชื่อว่า “เมืองไทยที่ข้าพเจ้ารู้จัก” เล่มที่ 2 โฮลท์ ฮอลเล็ท เขียนหนังสือในภาษาไทยว่า “หนึ่งพันไมล์บนหลังช้างในรัฐฉาน” เมื่อปี พ.ศ.2419 เล่มที่ 3 เขียนโดย เรจินอลด์ เลอ เมย์ ในภาษาไทยชื่อ “ดินแดนอันรื่นรมย์ในเอเชีย แผ่นดินและประชาชนในสยามตอนเหนือ” เขียนถึงแม่น้ำปิงเมื่อ พ.ศ.2456 เล่มที่ 4 เขียนโดยคนไทยชื่อ พระยาสุนทนเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มี 2 เรื่อง คือ “ระยะทางไปมณฑลพายัพ พระพุทธศักราช 2456” และ “อธิบายล่องแม่น้ำพิง”
จะด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือด้านเศรษฐกิจก็ตาม ชุมชนท่าวัดเกตจึงมีพัฒนาการภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ซึ่งความโดดเด่นแตกต่างจากชุมชนอื่นในเมืองเชียงใหม่ทั้งในอดีตและยังปรากฏร่องรอยให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ท่าวัดเกตบนฝั่งแม่น้ำปิงจึงอยู่ท่ามกลางบริบทที่หลากหลาย ทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม กล่าวคือเป็นที่รองรับผู้คนหลากหลาย ได้แก่ คนเมือง คนไทกลุ่มต่าง ๆ จากเชียงตุงและรัฐฉาน สิบสองพันนา หลวงพระบาง ล้านช้าง พ่อค้าชาวจีนจากเมืองบางกอก จีนฮ่อจากยูนนาน แขกอินเดีย ผรั่งมิชชั่นนารี ชุมชนแห่งนี้จึงมีผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างผสมผสานหลายศาสนา อย่างไรก็ตามกลุ่มคนที่มีความสำคัญและมีบทบาททางสังคมและวัฒนธรรมมากกว่าคนกลุ่มอื่นในบริเวณท่าวัดเกตคือ กลุ่มพ่อค้าชาวจีน นั่นเอง
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น