คณะเทคนิคการแพทย์ มช. เปิดบริการตรวจภูมิคุ้มกันเชื้อพิษสุนัขบ้า หลังฉีดวัคซีนราคาถูก ทราบผลไว

ศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์คลินิก คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับภาคเอกชนและสถาบันโรคติดต่อแห่งประเทศญี่ปุ่น เปิดให้บริการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนโรคพิษสุนัขด้วย “วิธีซีอีไลซ่า” มีราคาถูก ประหยัดค่าใช้จ่าย และทราบผลไว หลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนบ่อยเกินความจำเป็น
ดร.วิสิตศักดิ์ สุขสะอาดพสุ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์คลินิก คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2561 มีวิกฤติการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย พบผู้ป่วยเสียชีวิตถึง 13 คน (สิงหาคม; สำนักระบาดวิทยา) ตรวจพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจำนวนมากทั้งในสุนัข แมว โค กระบือ สุกร และแพะ
ประเทศไทยจัดเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า (endemic area) เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุนัขหรือแมวจะติดโรคนี้ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คน ติดต่อสู่คนผ่านการสัมผัสน้ำลาย ผ่านบาดแผล หรือถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด มากกว่า 95% ของโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากการถูกสุนัขที่ติดเชื้อกัด หากผู้ป่วยแสดงอาการแล้วจะเสียชีวิตทุกราย แม้ว่าจะไม่มีวิธีที่สามารถรักษาโรคได้ แต่มีวิธีป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งสร้างพื้นที่ในชนบทและเขตเมืองทั่วประเทศให้ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า โดยฉีดวัคซีนป้องกันในสัตว์ต่างๆ

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้านอกจากการฉีดให้สัตว์แล้ว มักจะฉีดกับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับเชื้อ เช่น สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ สัตวบาล อาสาสมัครปศุสัตว์ กลุ่มคนที่ทำงานกับสุนัขและแมว โดยจะมีการฉีดวัคซีนอยู่ 2 ประเภท คือ ฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และฉีดหลังจากถูกสัตว์กัด เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิตหากแสดงอาการแล้ว ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่จึงป้องกันโดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี แต่กระนั้นก็ยากที่จะบอกได้ว่าวัคซีนที่ฉีดไปแล้วได้ผลหรือไม่ หรือภูมิคุ้มกันจะคงอยู่ได้นานเท่าใด ดังนั้น การตรวจระดับแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันในคนกลุ่มดังกล่าวหรือสัตว์ฉีดวัคซีนแล้ว จึงเป็นการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ได้รับที่สำคัญและจำเป็นมาก เพื่อให้แน่ใจว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีประสิทธิภาพและเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนบ่อยเกินความจำเป็น ทั้งนี้รวมถึงผู้ที่ถูกสุนัขกัดและได้รับวัคซีนเพื่อการรักษาก็ควรจะได้รับการประเมินด้วย
จากเหตุผลดังกล่าว ศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์คลินิก คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับล้านนาด็อกเวลแฟร์ และห้องปฏิบัติการโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สถาบันโรคติดต่อแห่งประเทศญี่ปุ่น (National Institute of Infectious Disease) ซึ่งเป็นสถาบันผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า จึงร่วมมือกันเปิดให้บริการตรวจหาภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า (anti rabies antibody) ในคนจากเลือด ด้วยวิธีซีอีไลซ่า (CEE-cELISA- Cost Effective Easy Competitive ELISA) ทีมีประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้ในการประเมินการฉีดวัคซีนและการตัดสินใจของแพทย์ในการรักษาผู้ที่ถูกสุนัขกัด โดยให้การบริการครอบคลุมแก่โรงพยาบาลรัฐ หรือ โรงพยาบาลเอกชนในภูมิภาค รวมทั้งโครงการวิจัยประเมินวัคซีน การฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้าแก่กลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น สัตวแพทย์ นักศึกษาสัตวแพทย์ สัตวบาล ปศุสัตว์ อาสาสมัครปศุสัตว์ รวมถึง ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยง เด็ก นักท่องเที่ยว
เพื่อลดการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าซ้ำประจำปีของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ และค่าใช้จ่ายจากการฉีดวัคซีนของคนที่ถูกสัตว์กัดหรือสัมผัส ศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์คลินิก คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้เปิดบริการตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นทางเลือกที่มาจากผลการวิจัยในพื้นที่ และตามมาตรฐานสากล อีกทั้งเป็นวิธีการประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลและขององค์กรในกรณีเกิดการระบาดในประชากรกลุ่มใหญ่
ขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์คลินิก คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. 0-5393-6027

ร่วมแสดงความคิดเห็น