กรมสุขภาพจิต ใช้หลักการ “คุณภาพชีวิต” พัฒนาศักยภาพผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา

กรมสุขภาพจิต เผยความสำเร็จ ด้านการพัฒนาโปรแกรมเยี่ยมบ้านผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ด้วยหลักการคุณภาพชีวิต (Quality of life) คือ การดำรงชีวิตอิสระ การมีส่วนร่วมในสังคม การมีสุขภาพจิต กาย อารมณ์ และทรัพยากรในการดำรงชีวิตที่ดี ส่งผลให้เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญากว่าร้อยละ 90 สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ยาวนานขึ้น รวมทั้งส่งผลให้ครูและผู้ปกครองเด็ก ร้อยละ 98 มีสุขภาพจิตดีขึ้นด้วย
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ในส่วนภารกิจของกรมสุขภาพจิตด้านตรวจ วินิจฉัย บําบัด รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้บกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งมีสถาบันราชานุกูล เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพ และความสามารถผู้บกพร่องทางสติปัญญา ให้สามารถอยู่ในสังคมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยที่ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา มักมีปัญหาเกือบทุกด้านในชีวิตประจําวัน มีปัญหาการเรียนรู้ เนื่องจากภาวะสมองหยุดพัฒนา หรือพัฒนาไม่สมบูรณ์ทําให้เกิดความบกพร่องของทักษะด้านต่างๆ
การดูแลผู้บกพร่องกลุ่มนี้ จึงเป็นการดูแลที่มีความยุ่งยากซับซ้อน เพราะพวกเขาไม่สามารถสื่อความต้องการได้ด้วยคำพูดหรือท่าทาง ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจนว่าตนเองเป็นอะไร หรือต้องการอะไร ด้วยเหตุนี้หน่วยงานจึงได้มีการใช้ยุทธวิธี “การเยี่ยมบ้าน” เพื่อนำองค์ความรู้และวิธีการดูแล การส่งเสริมพัฒนาการ ไปให้ครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้ และปฏิบัติกับผู้มีปัญหาได้อย่างถูกต้อง แต่เดิมการเยี่ยมบ้านผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญายังไม่ครอบคลุมในทุกมิติ คือ ดูแลเฉพาะด้านสุขภาพ ได้แก่ การประเมินสัญญาณชีพ น้ำหนัก ส่วนสูง ความสะอาดของร่างกาย และพัฒนาการ ไม่มีการกำหนดสมรรถนะของทีม เยี่ยมบ้าน การส่งต่อในเชิงระบบในพื้นที่ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถติดตามข้อมูลผู้บกพร่องได้อย่างต่อเนื่อง
เป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้สถาบันราชานุกูล ได้พัฒนาโปรแกรมการเยี่ยมบ้านผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา แบบครบวงจร (Comprehensive Care) โดยบูรณาการหลักการของคุณภาพชีวิต (Quality of life) ซึ่งประกอบด้วย การดำรงชีวิตอิสระ การมีส่วนร่วมในสังคม และการมีสุขภาพจิต กาย อารมณ์ และทรัพยากรในการดำรงชีวิตที่ดี ซึ่งจากการใช้โปรแกรมการเยี่ยมบ้านผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาแบบครบวงจร (Comprehensive Care) นี้ พบว่า ส่งผลให้เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญากว่าร้อยละ 90 สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ยาวนานขึ้น รวมทั้งส่งผลให้ครูและผู้ปกครองเด็ก ร้อยละ 98 มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วย นับเป็นความสำเร็จด้านการพัฒนาศักยภาพ และความสามารถ ผู้บกพร่องทางสติปัญญา ให้สามารถอยู่ในสังคมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กทม.
แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กทม. เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโปรแกรมการเยี่ยมบ้านผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาแบบครบวงจร (Comprehensive Care) ว่า ประกอบด้วย 5 มิติ คือ มิติที่ 1 ด้านสุขภาพ (Health) เป็นการดูแลภาวะการเจ็บป่วยของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ในเรื่องความเจ็บป่วยในปัจจุบัน โรคร่วม การรับประทานยา ภาวะโภชนาการ การดูแลสุขภาพภายในช่องปาก มิติที่ 2 ด้านการทำหน้าที่ (Function) เป็นการส่งเสริมพัฒนาการ ให้ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา สามารถทำกิจวัตรประจำวัน ได้แก่ การดูแลตนเอง การแต่งกาย การรับประทานอาหาร การทำงานบ้าน และการเดินทางในชุมชน ตลอดจนการจัดกิจกรรมที่เตรียมพร้อมในการเรียนและการเล่นที่เหมาะสม มิติที่ 3 ด้านการส่งเสริมสมรรถนะทางสังคม (Social Competence) เป็นการดูแลและฝึกให้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม สามารถควบคุมตนเองได้ สามารถปฏิบัติตามกฎกติกา รู้จักอดทนรอคอย และมีความภาคภูมิใจในตนเอง มิติที่ 4 ด้านการเปลี่ยนผ่าน (Transition) เป็นการดูแลและฝึก ผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาให้มีความพร้อมสำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ เช่น การเปลี่ยนผ่านพัฒนาการตามช่วงวัยของชีวิต ความพร้อมในการเข้าสู่โรงเรียน ความพร้อมในการทำงานในสถานประกอบการ และมิติที่ 5 ด้านบริบท (Contextual) เป็นการส่งเสริมให้ครอบครัวมีความตระหนักและสามารถทำหน้าที่ตามบทบาทของตนอย่างเหมาะสม เข้าใจ และยอมรับความเจ็บป่วยของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา รับรู้ปัญหา และการมีเครือข่ายทางสังคมของสมาชิกในครอบครัวเพื่อขอรับการช่วยเหลือ รวมทั้งการพัฒนาระบบการส่งต่อทั้งใน และนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้มีความชัดเจน เอื้อต่อติดตามข้อมูลผู้บกพร่องได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น