ออกไปนอนฟังเสียงฝน ชมทะเลหมอก ดอกซิมบิเดี้ยม ชิมชารสเลิศที่ “ม่อนเงาะ”

เส้นทางท่องเที่ยวเชียงใหม่ในเส้นทางหลวงหมายเลข 107 สายเหนือที่มีความหลากหลายมิติในฤดูฝนให้ได้สัมผัสเสน่ห์การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ฟักทองเข้าแถว กล้วยไม้ซิมบิเดี้ยม ชิมชารสละมุ่น ชมทะเลหมอกบนม่อนเงาะ วิถีชีวิตชาวม้ง ตื่นเต้นท้าทายในสายน้ำแตง ม่อนเงาะ สถานที่ท่องเที่ยวอยู่ในอำเภอแม่แตงใกล้ๆ ถนนหนทางสะดวกสบายระยะทางไม่ไกลมากนัก มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายน่าสนใจที่เดียวเลยล่ะในฤดูฝนโปรบปรายเช่นนี้….แล้วแบกเป้ไปกัน ?
…เปาะแปะ…เปาะแปะ…เปาะแปะ…เปาะแปะ…เสียงฝนกระหน่ำลงมากับอากาศที่เย็นสบายสดชื่นเราออกเดินทางไปสัมผัสกัน ในทริปนี้กันที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ จากตัวเมืองเชียงใหม่ก็มาถึง “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ” ตั้งอยู่เมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์แห่งนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2528 เมื่อครั้งที่ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เดินทางมาสำรวจพื้นที่บริเวณบ้านม่อนเงาะ ซึ่งมีชาวเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่ ด้วยการทำไร่เลื่อนลอย แผนพัฒนาจึ่งได้กำหนดขึ้นพร้อมด้วยความร่วมมือจากหลายๆหน่วยงานจัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ”
จากศูนย์เราไปลุยกันต่อไปเที่ยวชม “ผักทองเข้าแถว” ฟังดูแล้วแปลกดีไหมครับ? ที่ “ศูนย์หน่วยย่อยผาหมอน” อีกประมาณ 6 กิโลเมตร ถนนลัดเลาะไปตามแนวเขาโยกซ้ายโยกขวาเป็นจังหวะ มีภาพวิวให้ได้ชมทิวทัศน์ขุนเขาสวยๆ แล้วมาถึงศูนย์ฯย่อย คุณประชัน แช่มชื่น เจ้าหน้าดูแลบอกว่าเป็นเทคนิคต้องคอยตัดแต่งให้ผักทองที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนวเส้นตรงยาว สะดวกในการดูแล และเก็บผลผลิตได้มากขึ้น จากศูนย์ย่อยขึ้นเนินสูงไปอีกนิดเป็นจุดกางเต้นท์ชมวิวทิวทัศน์ ชมดาวในค่ำคืนที่สวยงามอีกจุด
ถัดมาไปเที่ยวชมโรงเพาะเห็ดที่บ้านปงตองจากศูนย์ไปประมาณ 10 กิโลเมตร โรงอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ภายในบรรจุก้อนเชื้อเห็ดหัวลิง หรือ เห็ดปุ้ยฝ้าย ( Hericium) ที่ต้องควบคุมความชื้นอุณหภูมิอย่างดี และยังมีโรงเพาะเห็ดโรงไม้ขนาดเล็กเป็นเห็ดภูฐาน( Lung Oyster) เห็ดยานางิ หรือ เห็ดโคนญี่ปุ่น (Yanagimatsutake) ที่อยู่ใกล้ๆกันนี้เป็น “โรงงานชาปงตอง” โรงแปรรูปคั่ว ชา กาแฟ ที่ปลูกในบริเวณม่อนเงาะนี้
จากศูนย์ฯออกเดินทางมาบ้านสามสบ อีกประมาณ 3 กิโลเมตร เราจะได้ตื่นตากับไร่ชาปลูกลดหลั่นเป็นขั้นบันไดโอบล้อมด้วยขุนเขามี ลุงเดช รังษี กำลังดูแลไร่ชาบนใบหน้าอิ่มเอมด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขซึ่งปลูกชามานานกว่า 20 ปี ที่ต้องใช้ศิลปะทำให้ได้คุณภาพชาที่ดี เป็นชาจีนอู่หลงพันธุ์ก้านอ่อน และชาเบอร์20 แล้วมาพักจิบน้ำชาร้อนสีเหลืองอำพันทั้ง 3 ชนิด ชาขาว,ชาเขียว และชาอูหลง เบอร์ 12 พร้อมชมวิวไร่ชา สามารถเห็นวิวทิวทัศน์ขุนเขาไร่สุดสายตา ช่างมีความสุขเสียจริงๆ ที่ไร่ชายังมีบริการที่พักและอาหารอีกด้วย ด้วยเมนู ใบชาทอดกรอบ และ ส้าใบชา
เวลาบ่ายเคลื่อนคล้อยลงต่ำอีกสถานที่ถือว่าคุณจะพลาดไม่ได้ถือเป็นไฮไลด์ของม่อนเงาะเลยนั้นก็คือ “ดอยม่อนเงาะ” ออกเดินทางไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร เราที่ “หมู่บ้านม้งม่อนเงาะ” บ้านเรือนไม้ที่ปลูกราดลงตามเชิงเขา แม่อุ้ยนั่งปักผ้าลวดลายสวยงามในชุดสีดำอันเป็นภูมิปัญญาของชาวม้ง เดินลงต่ออีกนิดไปที่โรงเรือนเพาะ “กล้วยไม้สกุลซิมบิเดียม” (Cymbidium)ที่นำรังใส่ผักเก่าๆมารีไซเคิลสำหรับเพาะซีมบิเดียมให้ช่อใหญ่ดอกโต หนึ่งช่อมีดอกนับสิบดอก มีสีชมพู สีเหลือง สีขาวและสีเขียว ที่ศูนย์ฯแห่งนี้ถือเป็นแหล่งเพาะซิมบิเดียมที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่ง
แล้วไปขึ้นดอยม่อนเงาะกันต่อ ที่มาของคำว่า “ม่อนเงาะ” นั้นมาจากภาษาม้งที่เรียกว่า “โม่งโง๊ะ” ที่แปลว่า “แม่” จนเรียกกันเพี้ยนมาเป็น “ม่อนเงาะ” ที่ผาหินมีลักษณะเป็นหน้าผาหินเรียงอยู่ใกล้เคียงตัวกัน 3 ลูก ผาแรกคือ ผาลูก ผากลางคือแม่ที่เด่นสุด ผาสุดท้ายคือ ผาพ่อ
ช่วงฤดูฝนสภาพอากาศเอาแน่นอนอะไรไม่ได้เราต้องลุ้นว่าจะได้ชมพระอาทิตย์กันหรือเปล่า? จากลานกางเต้นท์เดินเท้าต่ออีกประมาณ 500 เมตร ก่อนจะขึ้นม่อนเงาะมีป้ายบอก “นางเงือกผา” ที่ต้องใช้การสังเกตกันนิดว่าจะหากันเจอหรือไม่ ซึ่งเป็นลักษณะของหินงอกสีขาวนวลโดดเด่นที่มีลักษณะคล้ายนางเงือกหันหน้าเกาะหน้าผาอยู่ เดินเท้าต่ออีกนิดมาถึงบน “ม่อนเงาะ” มีป้ายคำว่าม่อนเงาะให้ได้ถ่ายภาพกันบนความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,425 เมตร
เมื่อสังเกตดีๆเราจะพบความหลากหลายของธรรมชาติดอกไม้จิ๋วๆเล็กๆน่ารักที่ชูช่องาม อาทิ ดอกแอสเตอร์(Aster) โครงแครงหิน(Actinopterygii) และดอกไม้จิ๋วอื่นๆที่บริเวณนี้มีก้อนหินเล็กๆเรียงรายสลับต้นหญ้าเหมือนเป็นที่นั่งให้เราได้นั่งชมตะวันลาขอบฟ้าความมหัศจรรย์สีสันก่อนที่จะสิ้นแสงแห่งวัน ความมืดลมหนาวเข้าปกคลุม บนท้องฟ้าเต็มเมฆดำค่ำคืนนี้จะมีฝนหรือเปล่าเรากลับมาพักที่บ้านพักที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ พักอาบน้ำทานข้าว นอนพักผ่อนฟังเสียงฝนกระทบบนหลังคา
อรุณสวัสดิ์กับทะเลหมอกขาวเริงระบำไปตามแนวเขาที่ชมได้ที่ระเบียงหน้าที่พัก นกน้อยส่งเสียงร้องเริงร่าน่ารัก กาแฟ และข้าวต้มร้อนๆ เติมพลัง แล้วเตรียมตัวไปสุดขั้วสุดขีดในกิจกรรมมันๆกับการล่องแก่งแม่น้ำแตงกันต่อ เสน่ห์ของฤดูฝนที่ “ม่อนเงาะ” ในวันพักผ่อนเติมความสุข เติมพลังแห่งชีวิตอย่างมิรู้คลาย
การเดินทาง
จากตัวเมืองเชียงใหม่ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ตรงไปประมาณ 37 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายที่ตลาดแม่มาลัย ไปตามทางหลวงหมายเลข 1095 สายแม่มาลัย-ปาย อีก 12 กิโลเมตร ถึงวัดสบเปิงเลี้ยวขวาไปตามถนนสบเปิง-ห้วยน้ำเย็น-ม่อนเงาะ 17 กิโลเมตร ระยะทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ถึงศูนย์โครงการหลวงม่อนเงาะ ประมาณ 67 กิโลเมตร
การขับขี่รถในเส้นทางท่องเที่ยวม่อนเงาะ ควรใช้ความระมัดระวัง ถนนบนดอยแคบ ตามโค้งต่างๆควรบีบแตร ให้ทางระหว่างรถสวนทาง
ที่พัก/อาหาร
ที่ศูนย์มีเต้นท์ ถุงนอน บ้านพัก และอาหารไว้ให้บริการ (กรุณาโทรติดต่อล่วงหน้า)
ติดต่อสอบถาม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ บ้านม่อนเงาะ หมู่ที่ 5 ต.เมืองก๋าย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ 50150 โทร.0 5322 8115,0 84740 7449,ไร่ชาลุงเดช โทร.0 81163 3765

ร่วมแสดงความคิดเห็น