“ผีปู่ย่า” ความเชื่อของคนล้านนาฤาเหลือไว้เพียงความทรงจำ

พอถึงเทศกาลสงกรานต์ หรือ งานปี๋ใหม่เมืองล้านนา พ่อแม่มักจะพาลูกหลาน กลับไปบ้านเกิดเพื่อรดน้ำดำหัวพ่ออุ้ยแม่อุ้ยและเครือญาติผู้ใหญ่ อี่ปู่ แม่ย่า ลุงจาย บ่อาว์ ฯลฯ เป็นเช่นนี้มานานหลายสิบปี ในวันปี๋ใหม่เมืองนอกจากจะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่แล้ว ในช่วง
เวลานี้ยังมีการเลี้ยงผีและรดน้ำดำหัวผีปู่ย่า ซึ่งถือเป็นผีที่ชาวบ้านจะให้ความเคารพนับถือ
ผู้ที่สืบทอดพิธีกรรม “เลี้ยงผีปู่ย่า” เราเรียกว่า “เก๊าผี” ส่วนใหญ่ผีปู่ย่าจะอยู่ทางญาติฝ่ายแม่ เช่น อุ้ยคำเป็นพี่สาวคนโตของอุ้ยติ๊บ เมื่ออุ้ยคำเสียชีวิต ผีปู่ย่าได้ส่งต่อไปยังอุ้ยแก้ว ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของอุ้ยคำ อุ้ยแก้วเป็นสาวโสดไม่มีลูก เมื่ออุ้ยแก้วเสียชีวิตลง เก๊าผีจะถูก ส่งไปให้อุ้ยดีผู้เป็นน้องสาวต่อไป
ผีปู่ย่าจึงเป็นสถาบันที่สืบทอดสายสกุล (สายเลือด) ของสตรีล้านนาในอดีต ซึ่งแตกต่างจากนามสกุล (การสืบทอดทางฝ่ายชาย) ที่มีการเริ่มใช้ในรัชกาลที่ 6 มานี้เอง แม้ความหวังว่าจะมีการสืบต่อปกป้องระบบ “ความเชื่อผีปู่ย่า” ได้ยากยิ่งในท่ามกลางกระแสสังคมยุค ทันสมัยก็ตาม แต่การสืบทอดระบบผีเดียวกันก็ยังมีอยู่ควบคู่ไปกับการสืบทอดระบบนามสกุลเมื่อฝ่ายชายได้มาเป็นเขยในตระกูล ก็ต้องให้ความเคารพนับถือผีของฝ่ายหญิง โดยเริ่มตั้งแต่ “การเสียผี” ซึ่งมีค่าพอที่ซื้อเหล้าไห ไก่คู่ และหัวหมูที่เมื่อหลังจากเลี้ยงผีแล้วพอที่จะแบ่งปันเนื้อหมูไปให้ญาติพี่น้องที่นับถือผีเดียวกัน ถือเป็นการยอมรับนับถือญาติผู้ใหญ่ตาม
จารีตประเพณีนั่นเอง ญาติผู้ใหญ่ในตระกูลฝ่ายหญิง (ฝ่ายแม่) ก็จะมีการเรียกชื่อตามระบบตระกูลว่า “ผัวอีแก้ว” ส่วนญาติทางแม่คนที่อายุน้อยกว่าแม่จะเรียกพี่เขยว่า “ปี่จาย” หรือ “จาย” ซึ่งหมายถึงพี่เขย ส่วนญาติพี่น้องทางพ่อจะเรียกแม่ (สะใภ้) ว่า “ปี่ญิง” หรือหากเป็นญาติผู้ใหญ่ก็จะ
นิยมเรียกชื่อเฉพาะในฐานะที่เป็นภรรยา เช่น “เมียบ่หนาน” เป็นต้น อันเป็นการแสดงถึงการยอมรับเข้ามาในสถานะเป็นพวกเดียวกันในระหว่างตระกูลผีปู่ย่าที่เข้ามาไขว้ผีหรือแต่งงานกัน
อย่างไรก็ตามในสายตระกูลผีปู่ย่าเดียวกันจะมีการคัดเลือก (ซาวเสียง) “ตั้งข้าว” จากผู้ชายตนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่จัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ ทำหน้าที่ดูแลปัดกวาดทำความสะอาดหอผีปู่ย่า ตลอดจนป่าวประกาศนัดหมายไปยังหมู่ญาติพี่น้องว่า “เก๊าผี” หำหนดจะเลี้ยงผีปู่ย่า
ในวันเวลาใด เหมือนกับเชิญชวนญาติพี่น้องให้เข้าร่วมในพิธีแล้วรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นล่ามเชื่อมความสามัคคีของคนในตระกูลนั่นเอง
การเลี้ยงผีปู่ย่าโดยทั่วไปจะนิยมเลี้ยงในเดือน 4 หรือ เดือน 9 แรม แต่ด้วยความสะดวกที่ญาติพี่น้องอยู่ไกล นาน ๆ จะกลับบ้านตอนปีใหม่สงกรานต์ก็อาจใช้ช่วงเวลานี้เลี้ยงผีก็ได้ หรือหากลำบากที่จะต้องเดินทางมาร่วมพิธีเลี้ยงผี ซึ่งหมายถึง ความเป็นพวกเดียวกัน ก็
อาจขอแบ่งผีไปอยู่ในชุมชนใหม่ที่อยู่ไกลออกไป ก็จะนำเอาขันหรือสลุงมาขอแบ่งผีจากเก๊าผีปู่ย่าซึ่งก็จะจัดเลี้ยงผีบอกกล่าว เก๊าผีก็จะเอาข้าวตอกดอกไม้ใส่ขัน ปันพรแบ่งผีให้สมาชิกไปจัดทำพิธีเอง ซึ่งเมื่อไปรับผีมาแล้วก็เอามาตั้งขันในหอผีที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ถือเป็นความเจริญรุ่งเรือง
แตกลูกแตกหลานเป็นครอบครัวใหม่ขยายออกไปไม่สิ้นสุด
หากมีญาติผู้ใหญ่หรือใครคนใดในตระกูลไม่สบายเจ็บป่วยเป็นเวลานาน ก็มักจะเห็นกลุ่มญาติผู้ใหญ่ในตระกูลไปปรึกษาคุยกับเก๊าผีเพื่อเสาะหาสาเหตุแห่งความเจ็บป่วยนั้น ซึ่งคนที่นับถือผีปู่ย่าจะมีความเชื่อเบื้องต้นว่า หากมีลูกหลานในตระกูลทำผิดผีแต่ไม่ได้ขอขมา
ก็มักจะให้ญาติผู้ใหญ่ไม่สบาย แล้วก็จะให้คนในตระกูลไปถาม “หมอเมื่อ” (หมอที่ทำหน้าที่ทำนายทายทัก) หรือที่บางคนเรียกว่า “ลงขอน” ซึ่งมักจะแสดงถึงสาเหตุของความเจ็บป่วยว่า ถูกผีหรืออสูรกายมาหลอกรบกวนเพราะต้องการอาหารหรือของทาน ด้วยผู้ป่วยมิอาจทันระวัง
ทางกายบ้างหรือทางวาจาบ้าง จึงต้องมีการเตรียมขันตั้งไปขอขมา จนชาวบ้านมีการปฏิบัติจนติดปากว่า “เหล้าไห ไก่คู่” ผู้รู้ในปัจจุบันให้ความเห็นว่า เป็นการรักษาพยาบาลทางจิตวิญญาณหรือเสริมขวัญกำลังใจให้ผู้ป่วยที่บางคนจะหายป่วยไปอย่างเหลือเชื่อ อันเป็นระบบรักษา
ทางจิตวิญญาณโดยระบบผีปู่ย่า และบางครั้งกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ในตระกูลฝ่ายหญิง มักจะมีเรื่องซุบซิบจาก “เจ้านาย” หรือคนทรงว่าเหตุผลของการเจ็บป่วยเป็นเรื่องความประพฤติผิดผีของเด็กสาวในตระกูลที่กลุ่มเก๊าผีก็จะต้องทำหน้าที่สอดส่อง ควบคุมความประพฤติของสมาชิกต่อไป
“การผิดผี” จึงเป็นมาตราการควบคุมสมาชิกและการปรับไหมลงโทษผู้ละเมิดกฏเหล็กของผีปู่ย่าของตระกูลในอดีต การผิดผีจึงเริ่มตั้งแต่มาตราการเล็ก ๆ น้อย ๆ แม้เพียงการจับมือถือแขนหรือแตะเนื้อต้องตัวก็ถือเป็นการผิดผีแล้ว เพราะกลัวการลุกล้ำได้คืบจะเอาศอกจากผู้ชาย ก็จะต้องเสียค่าปรับนำเงินค่าปรับไปซื้อของมาเซ่นไหว้ ตามธรรมเนียมของแต่ละตระกูล
การเสียผีมี 2 แบบ คือ “ใส่ผีเอา” หมายถึงการยอมเสียผีขอขมาแล้วยอมมัดมือแต่งงานเป็นผัวเมียกัน และ “ใส่ผีบ่เอา” หมายถึง ยอมเสียผีตามธรรมเนียมแต่ไม่ยอมแต่งงาน ซึ่งจะต้องเสียผีค่าปรับไหมมากกว่าปกติ เพราะถือว่าไม่ให้เกียรติฝ่ายหญิงลบหลู่ให้ได้รับความอับอายไปแล้วที่สุดแล้วระบบผีปู่ย่า คือระบบกลไกของสถาบันชุมชนที่ปกป้องควบคุมสมาชิก (ผู้หญิง) ให้มีพฤติกรรมเคารพเชื่อฟังคำสั่งสอนของญาติผู้ใหญ่อย่างเคร่งครัด ป้องกันการท้องก่อนแต่งที่สมัยก่อนยังไม่มีการคุมกำเนิดเช่นในปัจจุบัน
หมดจากรุ่นอุ้ยรุ่นแม่ไปแล้ว “ผีปู่ย่า” สถาบันของสังคมชนบทในอดีตกำลังถุกค่านิยมความทันสมัยและวัฒนธรรมบริโภคแบบอย่างตะวันตกคุกคาม จน “ผีปู่ย่า” อาจเหลือเป็นเพียงแค่พิธีกรรมและความทรงจำเท่านั้น หรืออาจมีแนวโน้มเนดั่งพุทธทำนายที่พระองค์ตรัส
ตอบพระเจ้าประเสนทิโกศลที่ทรงถามจากพระสุบินว่า “ฝันเห็นต้นไม้ต้นเล็ก ๆ ยังไม่โตเต็มที่ แต่ออกดอกออกผลสะพรั่งเต็มต้น” จะมีความหมายเช่นใด ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “กาลต่อไปภายหน้าคนจะมีลูกเต้าตั้งแต่อายุยังน้อย” ก็เป็นได้
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น