จุดโคมล้านนา บูชาพระพุทธเจ้า ส่องแสงสว่างแก่ชีวิต

เข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาว อันเป็นช่วงเวลาที่อากาศปลอดโปร่ง และท้องฟ้าแจ่มใส ใกล้เข้าสู่ช่วงประ เพณีสำคัญของชาวล้านนา ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ยี่เป็ง หรือวันเพ็ญเดือนสิบสอง ธรรมเนียมปฏิบัติของชาวล้านนาในเทศกาลนี้ อย่างหนึ่งนอกเหนือจากการ ลอย กระทงลงแม่น้ำก็คือ การจุดประ ทีปโคมไฟให้สุกสว่าง

สําหรับโคมล้านนาที่เราเห็นกันในปัจจุบันนี้ แรกเริ่มเดิมทีเป็นเครื่องกําบังไฟไม่ให้ดับเมื่อถูกลมพัด ซึ่งในอดีตเมื่อชาวนาไปทํานาในยามค่ำคืน ทำการจุดเทียนเพื่อให้แสงสว่างในการทํานา บางครั้งเกิดลมพัด ทําให้เทียนดับ ชาวนาจึงใช้ตระกร้าที่ใส่ของมาครอบเทียน แล้วนํากระดาษมาหุ้มรอบๆ เป็นการกําบังไฟไม่ให้ดับ และต่อมาชาวบ้านได้ประยุกต์ใช้การประดิษฐ์โคมไฟ เพื่อใช้สําหรับบูชาพระพุทธเจ้าในช่วงประเพณียี่เป็ง
นอกจาก โคมไฟล้านนา จะเป็นเครื่องสักการบูชาพระพุทธเจ้าในยี่เป็งแล้ว ชาวล้านนายังถือว่าการได้กระทําเช่นนี้แล้ว แสงประทีปจากโคมจะช่วยส่องประกายให้การดําเนินชีวิตเจริญรุ่งเรือง และอยู่เย็นเป็นสุข
ถึงวันนี้ โคมล้านนา ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น และได้ประยุกต์ เปลี่ยนแปลงให้เข้ากับกาลเวลา มีมากมายหลายประเภทด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น “โคมแปดเหลี่ยม” โคมล้านนาที่หมายถึง มรรค 8 ที่มักนิยมถวายวัด เพื่อบูชาพระรัตนตรัย และพระธรรม “โคมไฟ” หรือที่เรียกอีกอย่างว่า โคมเพชร หมายถึง ความสวยงามอร่ามตา นิยมนําไปให้ในโอกาสขึ้นบ้านใหม่ ที่มีความหมาย หมายถึงหม้อเงิน หม้อทอง ไหเงิน ไหทอง “โคมดาว” โคมรูปทรงสวยงาม ที่มีรูปลักษณ์เฉกเช่นดาว 5 แฉก “โคมหูกระต่าย” โคมรูปร่างหน้าตาคล้ายหูกระต่าย ที่ใช้ถือเดินในขบวนแห่ เพื่อนําไปประดับรอบวิหาร พระอุโบสถ หรือหน้าบ้าน โคมดอกบัว โคมที่รูปร่างเหมือนกับ ดอกบัว ใช้ สําหรับบูชาพระ
“โคมผัด” โคมที่สามารถหมุนได้ โดยใช้ความร้อนจากควันเทียน ซึ่งคล้ายกับของทางภาคกลางเรียกว่า โคมเวียน โคมนี้จะเป็นรูปทรงกระบอกหุ้มด้วยกระดาษสา หรือ กระดาษว่าวสีขาว มีทั้งสองชั้นและชั้นเดียว หากเป็นสองชั้น ชั้นในจะมีภาพต่างๆ (ส่วนใหญ่ จะเป็นภาพ 12 นักษัตร) “โคมรูปฟัก” (หรือโคมบะฟัก) ที่มีลักษณะคล้ายกับรูปฟักทอง และ อื่นๆมากมายอีกหลายโคม

ร่วมแสดงความคิดเห็น