นกขุนแผนอกสีส้ม (Orange-breasted Trogon)

นกขุนแผนอกสีส้ม มีมีลักษระจะงอยปากและแผ่นหนังรอบตาสีน้ำเงิน ลักษณะเด่นคืออกสีส้ม ไล่ลงไปเป็นสีเหลืองที่ก้น หัวสีเขียวไพล หลังและขนหลุมบนหางสีน้ำตาลแดง เพศผู้มีลายขาวสลับดำที่ปีก ส่วนเพศเมียมีลายสีดำสลับน้ำตาลอ่อน และมีหัวสีเขียวอมน้ำตาลมากกว่าเพศผู้ นกวัยเด็กมีสีสันโดยรวมจืดชืดกว่าตัวเต็มวัยและมีลายที่ปีกคล้ายเพศเมีย นกขุนแผนอกสีส้มเป็นนกขุนแผนที่พบมากที่สุดในประเทศไทย มักเกาะสูงเมื่อเทียบกับนกขุนแผนส่วนใหญ่ พบในป่าดิบและป่าผสมผลัดใบทุกภาค ยกเว้นภาคกลาง ตามปกติจะได้ยินเสียงร้องบ่อยกว่าเห็นตัว คำว่า “Trogon” เป็นภาษากรีก หมายถึงการขบแทะ น่าจะมาจากพฤติกรรมการใช้ปากที่สั้นแต่กว้างและแข็งแรงในการขบตอไม้เป็นโพรงกว้างๆ เพื่อสร้างรัง
นกขุนแผนอกสีส้ม ตัวผู้จะมีสีสดกว่าตัวเมียเล็กน้อย ตัวเมียที่อกเทา ท้องสีจางกว่าตัวผู้ ปีกลายน้ำตาลสลับดำ เสียงร้องนกขุนแผนอกสีส้ม “ทิ้ว-ทิ้ว-ทิ้ว” หรือ “อิ๊ว-อิ๊ว-อิ๊ว” ติดต่อกัน 3-5 ครั้ง
ถิ่นอาศัยของนกขุนแผนอกสีส้มพื้นที่ภาคเหนือตอนบนพบใน ป่าดิบและป่าเบญจพรรณ ถึงความสูง 1,000 เมตร พบบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย, อุทยานแห่งชาติออบขาน, อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่
เรื่อง / ภาพ: จรัลศักดิ์ ลอยมี /แหล่งอ้างอิง : คู่มือดูนกหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย และหนังสือนกในเมืองไทย เล่ม 1 รศ.โอภาส ขอบเขตต์

ร่วมแสดงความคิดเห็น