อ.เมืองลำพูนบูม แหล่งท่องเที่ยวสำคัญเมืองนครหริภุญชัย จ.ลำพูน หวังดึงนักเที่ยว มาแอ่วเมืองรอง ช่วงหน้าหนาวนี้

จากกรณีเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 61 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้ลงพื้นที่ จังหวัดลำพูน เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยมีนาย อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ให้การต้อนรับ ซึ่งจังหวัดลำพูนนั้นเป็นหนึ่งใน 55 เมืองรอง ที่รัฐบาลสนับสนุนและลดหย่อนภาษี โดยมุ่งให้จังหวัดลำพูนนั้น มีการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในประเทศ สำหรับภาคเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ลำพูน อุตรดิตถ์ ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ น่าน กำแพงเพชร อุทัยธานี พะเยา ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถได้สิทธิประโยชน์จากมาตรการภาษีฯ ในการเดินทางเข้าพักโรงแรมที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการปกครอง โฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐานจากกรมการท่องเที่ยว และค่าบริการจากผู้ประกอบการนำเที่ยวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการท่องเที่ยว
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า อย่างที่ทราบกันดีว่า เมืองลำพูน เป็นแค่เมืองเล็กสุดของประเทศ แต่มีประวติศาสตร์ที่ยาวนาน ร่วมกว่า 1,400 ปี และเป็นจังหวัดที่สะอาดที่สุด และล่าสุดก็ได้ประกาศเป็นเมืองปราศจากโฟมโดยสิ้นเชิงไปแล้ว มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มากมาย ล้วนแล้วแต่มีประวัติที่ยาวนาน ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดลำพูนจะได้สัมผัสกลิ่นอายของคนล้านนา นครหริภุญชัย อย่างแท้จริง
สำหรับ แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดลำพูนนั้น เรามีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์มายาวนาน อย่างที่ทราบกันว่า เมืองลำพูน เป็นเมืองที่องค์เจ้าแม่จามเทวีเจ้าผู้ครองนครลำพูนเป็นผู้สร้างขึ้น ดังนั้นผู้ที่จะเดินทางมาลำพูนจะต้องแวะกราบไหว้สักการะท่าน ซึ่งมีอนุสาวรีย์ ตั้งอยู่ในกลางเมืองลำพูน บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางจามเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย พระนางเป็นปราชญ์ที่มีคุณธรรม ความสามารถและกล้าหาญ ได้นำพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมมาเผยแพร่ในดินแดนแถบนี้จนมีความรุ่งเรืองสืบมาจนถึงปัจจุบัน
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เป็นปูชนียสถานสำคัญในภาคเหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่เมืองลำพูนมาอย่างยาวนานตั้งอดีตนับเวลามากกว่าพันปี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ150 เมตร มีถนนล้อมรอบสี่ด้าน คือ ถนนอัฏฐารสทางทิศเหนือ ถนนชัยมงคลทางทิศใต้ ถนนรอบเมืองทาง ทิศตะวันออก นอกจากนั้นยังเป็นองค์พระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปี ระกา อีกด้วย พระธาตุหริภุญชัย เจดีย์ทรงล้านนา หุ้มแผ่นทองจังโกทั้งองค์ องค์พระเจดีย์สูงประมาณ 92 ศอก มีฐานเป็นบัวลูกแก้วย่อเก็จ แล้วจึงเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ซึ่งรองรับองค์ระฆังกลมสีทอง และจากองค์ระฆังกลมเป็นบัลลังก์ย่อมุมและปล้องไฉน ปลียอดเจดีย์ทำเป็นฉัตรเก้าชั้น มีสัตถบัญชร (ระเบียงหอก ซึ่งเป็นรั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น รวมทั้งสำเภาทองประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือและทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม ตลอดทั้งปี นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวภาคเหนือ มักจะแวะมากราบสักการะขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากองค์พระธาตุอย่างเนืองแน่น
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือ  กู่ช้าง กู่ม้า เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่คู่กัน เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่งที่ชาวลำพูนให้ความเคารพนับถือ เมื่อต้องการ สมหวังในสิ่งใด ก็มักจะมา ขอพรกันที่นี่ เรียกได้ว่าเป็นทั้งโบราณสถานที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ตลอดจนเป็น ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ของคนในชุมชน ด้วยความเชื่อว่าเป็นสุสานช้างศึก – ม้าศึก คู่บารมีของพระนางจามเทวี
กู่ช้าง ตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุซากพระยาช้าง ชื่อ ปู่ก่ำงาเขียว หมายถึงช้างสีคล้ำ งาสีเขียว เป็นช้างคู่บารมีของ พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ปู่ก่ำงาเขียวเป็นช้างที่มีฤทธิ์มาก เมื่อออกศึกสงคราม เพียงแค่ช้างหันหน้าไปทาง ศัตรู ก็ทำให้ศัตรูอ่อนแรงลงได้ หลังจากช้างปู่ก่ำงาเขียวล้มเมื่อวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 พระนางจามเทวีโปรดให้นำซากช้างมาฝังไว้ที่นี่ และเนื่องจากเมื่อยังมีชีวิตอยู่เป็นช้างที่มีอิทธิฤทธิ์วิเศษ หากงาช้างชี้ไปทางใด ก็จะทำให้เกิดภัยพิบัติและผู้คนล้มตาย พระนางจึงโปรด ให้สร้างเจดีย์ทรงสูงครอบไว้โดยให้ปลายงาชี้ขึ้นฟ้า กู่ช้าง เป็นเจดีย์ลักษณะพิเศษ ไม่ใช่เจดีย์ที่พบได้ทั่วไป เป็นเจดีย์ฐานเขียงกลม ซ้อนเหลื่อมกันขึ้นไปห้าชั้น รองรับฐานบัวคว่ำ องค์ระฆังเป็นทรงกลม แต่จะยืดสูงขึ้นไปกว่าปกติ ลักษณะคล้ายทรงกรวยก่อด้วยอิฐสูง ประมาณ 30 เมตร ยอดเจดีย์ไม่แหลมอย่างเจดีย์ทั่วไป แต่เป็นยอดตัดมีปล่องคล้ายบ่อน้ำด้านบน ลักษณะคล้าย เจดีย์บอบอคยีใน อาณาจักรพยู ทางตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า และ เจดีย์ง๊ะจเวนะตาว ในเมืองพุกาม และเจดีย์บริวารรอบๆ เจดีย์มหาโพธิ์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย สันนิษฐานได้ว่ากู่ช้างได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์แบบพม่า
กู่ม้า ตั้งอยู่ด้านหลังกู่ช้าง เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุซากม้าทรงของพระเจ้ามหันตยศ พระราชโอรสของพระนางจามเทวี ฐานสี่เหลี่ยม องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ส่วนยอดหักพังทลายลงไปแล้ว ด้านหน้าโบราณสถานกู่ช้างกู่ม้านี้ เทศบาลเมืองลำพูนได้ปรับปรุงให้เป็นสถานที่ พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชน
วัดมหาวันวนาราม ตั้งอยู่ใกล้คูเมือง ด้านทิศตะวันตก ถ.จามเทวี ในเขตเมืองลำพูน วันมหาวัน จังหวัดลำพูนนั้นใช่ว่าจะมี ความสำคัญเพราะเพียงแค่มีพระรอดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือวัดแห่งนี้เคยเป็นพระอารามหลวง ของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญ  สิ่งที่น่าชมคือ พระพุทธสิกขิ หรือพระศิลาดำ ซึ่งพระนางจามเทวีอัญเชิญมา จากเมืองละโว้ ชาวเมืองเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระรอดหลวง หรือพระรอดลำพูน ซึ่งมีความสำคัญและเป็นแบบพิมพ์ใน การจำลองทำพระเครื่อง ที่ลือชื่อคือ พระรอดมหาวัน  พระรอดได้ขุดค้นพบที่วัดมหาวันเพียงแห่งเดียวเท่านั้นเนื้อดินเผาละเอียด หนักนุ่มมาก องค์พระประทับนั่ง ขัดเพ็ชรปางมารวิชัยประกอบด้วยพื้นผนังใบโพธิ์ทั้งสองด้าน มีศิลปะโดยรวมแบบทวาราวดี – ศรีวิชัย เป็นรูปแบบเฉพาะของสกุล ช่วงสมัยหริภุญชัย
ทางด้าน นางวรรณา ผุสดี ท่องเที่ยวและกีฬา จ.ลำพูน กล่าวว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของคนลำพูน นั้นที่ยึดถือกันมาตลอดคือการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีการทอผ้าของชาวลำพูน ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานและมีเอกลักษณ์โดดเด่นให้ดำรงคงอยู่ สถาบันผ้าทอยังเป็นการศูนย์เสริมสร้างอาชีพให้แก่กลุ่มทอผ้า และเป็นสถาบันที่รวบรวมพ่อครูแม่ครูที่มีความรู้เกี่ยวกับการทอผ้า เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาการทอผ้าด้วยมือสู่เยาวชนและผู้ที่สนใจ รวมทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ในด้านการออกแบบลวดลายผ้าทอโบราณ การพัฒนาการทอผ้าลวดลายใหม่ ๆ นอกจากนั้นสถาบันผ้าทอมือหริภุญชัยยังเป็นศูนย์ส่งเสริมด้านการตลาดเกี่ยวกับการทอผ้าของจังหวัดลำพูน โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้จัดหาวัสดุอุปกรณ์การทอผ้า รวมทั้งจัดหาผ้าซิ้นโบราณหายากเพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้าทอ สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ตั้งขึ้นบนที่ดินบริจาคจำนวน 5 ไร่ โดยเจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน ธิดาเจ้าพัฒนา ณ ลำพูน ซึ่งเป็นบุตรีของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์สุดท้าย บริเวณบ้านต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน โดยทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้จัดสร้างอาคาร ประกอบด้วย อาคารอำนวยการ อาคารศูนย์ทอผ้า อาคารพิพิธภัณฑ์ผ้าทอโบราณ ในบริเวณสถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย มีการปรับปรุงภูมิทัศน์อย่างสวยงามร่มรื่น
ขณะที่ บ้านดอนหลวง จังหวัดลำพูน หมู่บ้านเก่าแก่อายุนับร้อยปี แหล่งผลิตงานหัตถกรรมผ้าฝ้ายทอมือรายใหญ่และเป็นที่รู้จักมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ตั้งอยู่ใน ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชมวิถีการทอผ้าฝ้ายของชุมชนชาวยองที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่เดิมหมู่บ้านดอนหลวง มีชื่อเรียกกันว่า หมู่บ้านกอถ่อน มีเชื้อสายชาวยอง อพยพมาจากเมืองเชียงรุ้ง แคว้นสิบสองปันนาในจีนตอนใต้ เคยทำการค้าวัวค้าควายมาก่อน ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละได้กวาดต้อนผู้คน จากเมืองยองประเทศพม่าเข้ามาตั้งบ้านเรือนในเขตเมืองลำพูน ตั้งบ้านเรือน “เก็บฮอมตอมไพร่” เพื่อบูรณะฟื้นฟูเมืองหลังจากรกร้างจากการทำสงครามกับพม่า และได้ตั้งบ้านเรือนบริเวณที่ดอน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านดอนหลวง”
วิถีชีวิตของชาวยองในสมัยก่อนจะทำไร่ทำนา เลี้ยงวัวควาย และเมื่อว่างเว้นจากงานหลักแล้ว หญิงสาวมักจะทอผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือน โดยชาวยองเรียกการทอผ้าว่า “ตำหูก” แต่ละบ้านจะทอผ้าจากฝ้ายที่ปลูกเองแล้วนำมาผ่านกระบวนการปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย จากนั้นย้อมสีเส้นด้ายด้วยวัสดุจากธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต จากนั้นจึงนำมาขึ้นกี่ที่มีอยู่ใต้ถุนบ้านแทบจะทุกหลังคาเรือน เพื่อทำการถักทอเป็นผ้าผืนตามขนาดที่ต้องการ โดยผ้าที่นิยมทอกันในสมัยนั้นจะเป็นผ้าสีพื้น จากนั้นนำมาตัดเย็บเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม และข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป อาทิ ผ้าห่ม ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เป็นต้น ผู้หญิงชาวยองทอผ้าด้วยมือเป็นกันแทบทุกคน ถือเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยทอเป็นลวดลายพื้นๆ ที่เรียกว่าลาย 2 ตะกอ

ต่อมาการทอผ้าฝ้ายของชาวบ้านดอนหลวงมีการพัฒนารูปแบบ สีสัน และลวดลายให้มีความทันสมัย กลายเป็นสินค้าหัตถกรรมจากผ้าฝ้ายหลากหลายรูปแบบเช่น เสื้อผ้า ผ้าคลุมไหล่ ปลอกหมอน ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าปูเตียง เป็นต้น อีกทั้งยังผลิตสินค้าออกจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึกไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มากมายทั้งในและนอกประเทศ และยังพัฒนาหมู่บ้านให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีการสาธิตการทอผ้าแบบมือ การออกแบบทอผ้า พร้อมทั้งมีที่พักโฮมสเตย์ชมวิถีชีวิตของชาวยอง
 บ้านหนองเงือก เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่โดดเด่นเรื่อง การท่องเที่ยวและ วิถีชุมชนท้องถิ่น จนได้รับคัดเลือกให้อยู่ใน โครงการ Creative Tourism ปี 2560 นี้ ที่จัดขึ้นโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับชุมชน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ทางชุมชนเก็บรวบรวม ของเก่าของโบราณในชุมชน รูปถ่าย ของใช้ ต่างๆ ที่บอกเล่าความเป็นมาของชุมชนชาวยองโบราณ จนกลายมาเป็นบ้านหนองเงือกในปัจจุบัน ควรเข้าไปชมเป็นอย่างยิ่ง “พิพิธภัณฑ์ไทยองบ้านหนองเงือก” วัดหนองเงือก เป็นวัดเก่าแก่ในชุมชนที่มีโบราณสถานที่น่าสนใจ อาคารที่สะดุดตาอยากแนะนำอยู่ภายในวัดหนองเงือก ชาวบ้านเรียกกันว่า “คะตึก” รูปร่างเป็นอาคารรอบสองชั้นทรงตึก เป็นอาคารที่เก็บคัมภีร์โบราณเก่าแก่ภาษาล้านนาไว้ ที่น่าสนใจคือที่ชั้นล่าง มีภาพเขียนสี จิตกรรมฝาพนังที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และยังมีภาพรามเกียรติ์ ที่เป็นการวาดในแบบมอญ เพื่อนจะสังเกตเห็นยักษ์ และตัวละครต่างๆในรามเกียรติ์แบบที่ต่างออกไปจากที่คุ้นเคย
ในชุมชนหนองเงือกยังเป็นแหล่งผลิต กระเป๋านกฮูก อันโด่งดังที่เป็นของฝากยอดนิยมอย่างหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาเที่ยวภาคเหนือเลยที่เดียว เห็นภาพแล้วเชื่อว่าทุกคนคงคุ้นตาเป็นอย่างดี มาซื้อถึงถิ่นราคาไม่แพง  อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำให้สะดุดตาอึ่งไปเหมือนกันคือ การทำรองเท้าจากยางรถยนต์ ยางรถยนต์เก่านำมาตัดเป็นรองเท้ายางขายในยี่ห้อ “ชาวยอง” ซึ่งก็คือชื่อของผู้คนที่หมู่บ้านหนองเงือกนี้เองที่สืบเชื้อสายคนยอง มาแต่โบราณ เคยมีคำสั่งซื้อให้ทำเป็นรองเท้าย้อนยุคแบบว่าเอาไปให้ดารานักแสดงใส่ในการแสดงด้วย
อย่างไรก็ตาม ทาง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวตบท้ายด้วยว่า อีกหนึ่งโครงการที่ลำพูนได้ทำจนประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ โครงการ “ ลำพูนเมืองสะอาด ปราศจากโฟม ( No Foam ) ”จังหวัดลำพูน ได้ดำเนินการให้ทุกอำเภอคัดแยกขยะมาตั้งแต่ปี 2547 โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รณรงค์ให้ประชาชนทุกชุมชนมีการคัดแยกขยะ จนกระทั่งในปี 2555 มีชุมชนบ้านป่าเส้า ต.อุโมงค์ ได้รับรางวัล ชุมชนปลอดขยะต้นแบบ ระดับประเทศ ประเภทชุมชนขนาดใหญ่ ในปี 2557 มีชุมชนบ้านน้ำพุ ต.ป่าสัก อ.เมืองลำพูน ได้รับรางวัลชุมชนปลอดขยะขนาดกลางและชุมชนบ้านป่าบุก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง ได้รับรางวัลชุมชนปลอดขยะขนาดเล็กและหมู่บ้านป่าตึงงาม หมู่ที่ 3 ตำบลป่าสัก อำเภอเมืองลำพูน ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศ ขนาดเล็ก ปี 2560 ซึ่งชุมชนอื่น ๆ ก็ได้มีการคัดแยกขยะตามหลัก 3Rs ต่อเนื่องมา มีการขยายเครือข่ายชุมชนคัดแยกขยะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2559 – 2560 จังหวัดได้เร่งดำเนินงาน ตามแผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะ ทำให้ปริมาณขยะลดลง มีชุมชน  หมู่บ้าน ต้นแบบการจัดการขยะ 295 แห่ง , มีการจัดตั้งจุดทิ้งขยะอันตราย ใน 608 หมู่บ้าน , มีการจัดการขยะติดเชื้อและขยะจากอุตสาหกรรมตามหลักวิชาการ มีการจัดโครงการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารและขยะเปียก พร้อมทั้งประกาศเป็นจังหวัดปลอดขยะเปียก เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560
วันที่ 9 ตุลาคม 2560 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล จังหวัดลำพูน เข้ารับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ “จังหวัดสะอาด” จากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชน สืบเนื่องจากจังหวัดลำพูนได้เข้ารับการตรวจประเมินเป็นจังหวัดดีเด่นด้านการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน จังหวัดสะอาดระดับประเทศ ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้คัดเลือก จังหวัดที่ได้รับการตรวจประเมิน เป็นจังหวัดสะอาดในรอบสุดท้าย 4 จังหวัด คือ จังหวัดตรัง, ลพบุรี ,พิจิตร และจังหวัดลำพูน ในปี 2561  ลำพูนได้มีนโยบายให้ดำเนินโครงการ “ ลำพูนเมืองสะอาด ปราศจากโฟม ( No Foam ) ” เป็นโครงการต่อยอดหลังจากที่จังหวัดลำพูนได้รับรางวัล “ จังหวัดสะอาดอันดับ 1 ของประเทศ ” เมื่อปี 2560 เพื่อทำให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ในการส่งเสริมให้จังหวัดลำพูนยังคงเป็นเมืองสะอาดระดับประเทศต่อไป จึงมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชน ตลอดจนร้านค้า สถานประกอบการ ตลาด วัด ร่วมกันรณรงค์ลด ละ เลิกการใช้โฟมเพื่อบรรจุภาชนะในการประเพณีต่างๆ หรือการจำหน่ายอาหาร ซึ่งหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดลำพูน ก็ได้ดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งประกาศให้จังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดปลอดโฟม ได้ในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น