ดอยคำชูแนวคิดรักษ์โลก ร่วมมือกับ มช.ในโครงการท่อส่งก๊าซไบโอมีเทนทดแทนก๊าซหุงต้มกว่า 280 หลังคาเรือน

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สถาบันพลังงาน มช.) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมและสาธิตการใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ” ระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และ วิสาหกิจชุมชนไบโอมีเทนนางอย-โพนปลาโหล สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เพื่อดำเนินการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซไบโอมีเทน จากบริษัทดอยคำ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด (โรงงานหลวงที่ 3) ไปยังบ้านที่อยู่อาศัยของประชาชนในชุมชนบ้านนางอยและบ้านโพนปลาโหล จำนวน 280 หลังคาเรือน พร้อมชุดวัดปริมาณก๊าซ (Gas Meter) และเตาก๊าซหุงต้ม ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร มีระยะการวางท่อก๊าซหลักกว่า 10.8 กิโลเมตร และท่อก๊าซย่อยที่เข้าบ้านกว่า 8.4 กิโลเมตรโดยจัดพิธีลงนามฯ ณ ห้องศรีสุพรรณเนินไศล โรงงานอาหารหลวงสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร เมื่อวันที่ผ่านมา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากสถาบันฯได้คิดค้นวิจัยในการดำเนินการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ซึ่งเป็นก๊าซได้พัฒนานำก๊าซชีวภาพมาปรับปรุงคุณภาพ โดยการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) และความชื้นออกจากก๊าซชีวภาพ เพื่อให้ได้ก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) เพื่อทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งกำลังประสบปัญหาด้านราคา และมีแนวโน้มจะขาดแคลนในอนาคต
นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว โดยเล็งเห็นถึงแหล่งพลังงานทางเลือกที่ให้ผลดีด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการนำน้ำเสียจากกระบวนการผลิตของบริษัทไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณก๊าซชีวภาพที่ถูกส่งไปเผาทิ้ง (Flare) มีปริมาณมากกว่า 1,000 ลบ.ม./วัน ซึ่งสามารถนำมาเข้าสู่กระบวนการผลิตก๊าซไบโอมีเทนได้ประมาณ 250 กก./วัน เพื่อแจกจ่ายให้ชุมชนใกล้เคียงใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้ จำนวน 280 ครัวเรือน ซึ่งสามารถช่วยชาวบ้านลดค่าใช้จ่ายทั้งในด้านพลังงานและด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้คนในชุมชมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและมีความยั่งยืนเป็นสังคมแห่งการพึ่งพาซึ่งกันและกัน

สถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ จะส่งมอบให้กับวิสาหกิจชุมชนไบโอมีเทนนางอย-โพนปลาโหล เป็นการนำก๊าซชีวภาพซึ่งเกิดจากน้ำเสียจากบริษัทดอยคำ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด (โรงงานหลวงที่ 3) มาผ่านกระบวนการของเทคโนโลยีเมมเบรน ที่ใช้ความดัน 15 บาร์เกจ จะได้ก๊าซไบโอมีเทนที่มีองค์ประกอบก๊าซมีเทน 85.53 % ปริมาณที่ สามารถผลิตได้ 263 กก. CBG /วัน เมื่อเดินระบบเป็นเวลา 9.50 ชม./วัน สามารถนำมาทดแทนก๊าซหุงต้มได้ถึง 73,700 กิโลกรัม/ปี คิดเป็นมูลค่าถึง 1,783,540 บาท/ปี (คิดที่ราคา LPG 24.2 บาทต่อกิโลกรัม)

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถานีฯ นั้น เพื่อศึกษาออกแบบสร้างระบบส่งก๊าซไบโอมีเทนด้วยระบบท่อส่งก๊าซ ให้มีความปลอดภัยในด้านวิศวกรรมและมาตรฐานความปลอดภัย พร้อมกับเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านเทคโนโลยีของระบบท่อส่งก๊าซ และใช้ประโยชน์จากก๊าซไบโอมีเทนเป็นพลังงานทดแทนก๊าซหุงต้มในชุมชนต้นแบบ และลดปัญหาค่าครองชีพสูงของชาวบ้าน

ทั้งนี้หมู่บ้านได้จดทะเบียนจัดตั้ง วิสาหกิจชุมชนไบโอมีเทนนางอย-โพนปลาโหล มีการตั้งคณะกรรมการมาบริหารจัดการการใช้ก๊าซ CBG ทดแทนก๊าซ LPG ในทั้ง 2 หมู่บ้านจำนวน 7 คน ทำการจัดเก็บค่าก๊าซ มีการเงิน บัญชีรับ-จ่าย อาจมีค่าบำรุงรักษาระบบ ซึ่งเงินที่เหลือจะนำเข้ากองทุนของวิสาหกิจชุมชนไบโอมีเทนนางอย-โพนปลาโหล โดยประโยชน์ที่หมู่บ้านจะได้รับคือมีก๊าซที่เป็นพลังงานทดแทนใช้หมุนเวียนในหมู่บ้าน เป็นต้นแบบมีการถ่ายทอดความรู้ เพื่อเผยแพร่สู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไปด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น