นกอินทรีเล็ก : Booted EagleAquilapennata

เมื่อสายลมหนาวมาเยือน เหล่านกต่างๆ ที่อาศัยในแถบพื้นที่หนาว ก็เริ่มต้นอพยพยังพื้นที่ๆ อบอุ่นกว่าเพื่ออาศัย หากิน จนกว่าฤดูหนาวจะสิ้นสุด ในบรรดานกอพยพเหล่านั้น อินทรีเล็ก (Booted Eagle)ก็เป็นอีกหนึ่งชนิดที่เข้ามาในบ้านเราในฤดูหนาวทุกปี
เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ทุ่งนาของอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว ในทุ่งนาจึงเต็มไปด้วยเศษเมล็ดข้าวที่ล่วงหล่นตามพื้นนา เปรียบเสมือนเป็นชุปเปอร์มาเก็ตชั้นดี สำหรับเหล่าสัตว์ฟันแทะต่างๆ เช่น หนู อีกทั้งยังพอมีแอ่งน้ำขนาดเล็ก เป็นที่อาศัยของ กบ เขียด ซึ่งเป็นอาหารหลักของเจ้าอินทรีเล็ก ในปีนี้นับได้ว่าเป็นปีทองของเชียงใหม่ ที่เหล่าบรรดานักดูนก นักถ่ายภาพนก ได้มีโอกาสได้ชื่นชมนกอินทรีแท้หลายชนิดที่มาเยือนยังทุ่งนาแห่งนี้ ทั้ง นกอินทรีหัวไหล่ขาว นกอินทรีเล็ก และเหยี่ยวอีกหลายชนิด ทำให้พื้นที่ดังกล่าวคึกคักไปด้วยเหล่านกดูนกน้อยใหญ่ ทั้งชาวไทย และต่างประเทศ ที่เข้าไปดูและถ่ายภาพนกอพยพเหล่านี้อย่างไม่ขาดสาย

หากเราพิจารณาถึงลักษณะทางกายภาพของนกอินทรีเล็กตัวนี้แล้ว จะพบได้ว่า มีจุดเด่นที่มองเห็นได้ดังนี้ นกอินทรีเล็ก เป็นนกอินทรีแท้ที่มีขนาดตัวใกล้เคียงกับอีกา ซึ่งจัดว่าตัวเล็กสมชื่อ เมื่อเทียบกับนกอินทรีด้วยกันปีก และหางของนกอินทรีชนิดนี้ถือว่าค่อนข้างยาว สำหรับนกอินทรี ขอบหางตัด ลักษณะเด่นของนกอินทรีเล็ก คือแต้มสีขาวบริเวณซอกคอที่เลยไปยังหัวไหล่ เห็นได้ชัดจากด้านบนของลำตัว หรือด้านหน้าขณะบินลงจอด ในภาษาอังกฤษจึงมักอ้างถึงแต้มสีขาวนี้ว่า “landing lights” หรือ ที่นักดูนกบ้านเรานิยมเรียกกันว่า “ไฟหน้า” ด้านบนลำตัวมีปื้นสีน้ำตาลอ่อนบนพื้นสีเข้ม ตะโพกมีแถบโค้งสีขาว นกส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยเป็นชุดขนสีเข้ม ลำตัวเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีลายขวางจางๆที่ใต้ปีกและด้านล่างของลำตัว นอกจากนี้ยังมีขนปลายปีกด้านในเป็นสีอ่อน และโปร่งแสงจนดูเผินคล้าย ในขณะที่ชุดขนสีจางนั้นจำแนกได้ง่ายเนื่องจากลำตัวด้านล่างเป็นสีขาวตัดกับปีกสีดำ และมีสีน้ำตาลเปรอะบริเวณใบหน้า ส่วนชุดขนสีน้ำตาลแดงนั้นจัดว่าหายาก ถิ่นอาศัยของมัน จะเป็นป่าโปร่ง ทุ่งหญ้า และพื้นที่เกษตรกรรมที่เปิดโล่งในที่ราบ

“ในพื้นที่นากว้างของดอยหล่อแห่งนี้เปรียบได้แหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยของบรรดานกน้อยใหญ่ที่อาศัยพึ่งพิง การทำเกษตรควรลดละการเผา การใช้สารเคมีที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ให้ผืนนาที่อบอุ่นแก่สัตว์น้อยใหญ่ต่อไป”

แหล่งอ้างอิง : คู่มือดูนกหมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย และหนังสือนกในเมืองไทย เล่ม 3 รศ.โอภาส ขอบเขตต์

ร่วมแสดงความคิดเห็น