เชียงใหม่ มอบ มช. จัดทำแผนแม่บทอนุรักษ์เมืองเก่านักวิชาการ ชุมชน ขานรับหนุนเชียงใหม่สู่มรดกโลก

วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2561 จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายวิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการประชุมเสวนา ครั้งที่1/2561โครงการจัดทำแผนแม่บทเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่( เพื่อประสานการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการขับเคลื่อนเมืองมรดกโลกเชียงใหม่ ตามข้อเสนอของคระทำงานขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองดนดกโลก)โดยมี นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ ผู้เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักบริการวิชาการ (UNISERV) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.อนุรักษ์ ปัญญานุวัฒน์ ที่ปรึกษาคณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยวิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเป็นที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่จัดประชุมผู้ดำเนินการ นักวิชาการ ผู้แทนชุมชน “โครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลักได้แก่ การจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บท แนวทาง การปฏิบัติ และมาตรการต่างๆ ในการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า โดยการมีส่วนร่วม เพื่อให้เมืองเก่าเชียงใหม่ สามารถดำรงความเป็นเอกลักษณ์ และรักษามรดกทางประเพณี และวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า พร้อมกับการกำหนดแนวทาง และแผนปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณเมืองเก่าเชียงใหม่ให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ สร้างเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อคุณภาพชีวิตของชาวเชียงใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง”
คณะทำงานโครงการ ฯ ประกอบด้วยนักวิชาการด้านโบราณคดี ศิลปะไทย สถาปัตยกรรมและผังเมือง กฎหมาย สิ่งแวดล้อม ภูมิศาสตร์สารสนเทศ การสื่อสาร เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรมโยธาและการจราจร สังคมวิทยา และการท่องเที่ยว ดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม โดยจัดประชุมเสวนาครั้งแรกในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2561 ระหว่างเวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักบริการวิชาการ (UNISERV) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้และระดมความคิดเห็นระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง ถึงสภาพปัจจุบันและสถานการณ์ที่ควรจะเป็นของบริเวณเมืองเก่าเชียงใหม่ในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ผังเมือง ภูมิสถาปัตย์ สังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว กฎหมาย ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี โบราณสถาน วัดและศาสนสถาน ตลอดจนคุณค่าทางประวัติศาสตร์โบราณคดี
การจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บท ฯ ครอบคลุม 2 พื้นที่ในเขตกำแพงเมือง และพื้นที่โดยรอบ (Buffer Zone) พิจารณาการจัดการด้านภูมิทัศน์สภาพแวดล้อม การท่องเที่ยว ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ตลอดจนการออกระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น
“เชียงใหม่กำลังเดินทางสู่การเป็นเมืองมรดกโลก การดำเนินงานของเราถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าเชียงใหม่ตามเกณฑ์และกระบวนการขององค์การยูเนสโก้ (UNESCO)” ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร. สุรพล ดำริห์กุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน สถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตย์กล่าว
หัวหน้าโครงการยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “การรวมตัวของเราทั้งหมดในวันนี้คือการแสดงความตั้งใจในการผสานข้อมูลในอดีตด้วยองค์ความรู้ปัจจุบันมาส่งเสริมคุณภาพชีวิต พัฒนาเมืองของเรา และนี่จะเป็นการสืบสานความภาคภูมิแห่งอดีตกว่า 700 ปีของเมืองเชียงใหม่ ส่งต่อให้ลูกหลานของเราในอนาคต”
ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ พัฒนา ได้ทางเฟสบุ้กแฟนเพจ “เชียงใหม่เมืองเก่า”

ร่วมแสดงความคิดเห็น