เด็กเมืองรุ่นใหม่เมินภาษาถิ่น หวั่นรากภาษาชาติพันธุ์ถูกกลืน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในเขตภาคเหนือ กังวลเกี่ยวกับภษาถิ่น ในแต่ละพื้นที่จะถูกลบเลือนหายไป เนื่องจากผู้ปกครอง คนรุ่นใหม่ๆ มักจะนิยมให้ลูกๆ ใช้ภาษาไทยภาคกลางเป็นหลัก ส่งผลให้หลายๆครอบครัวที่พ่อ แม่เป็นคนเมือง แต่ลูกๆ พากันใช้ภาษาไทยกลาง ติดต่อสื่อสารกัน และนานๆไป เด็กเหล่านั้นจะไม่สามารถพูดภาษาพื้นถิ่นได้ แต่มีความเข้าใจ ไม่แตกต่างจากกลุ่มเด็กชาติพันธ์ แรงงานพลัดถิ่น อาทิ ไทใหญ่ ในรุ่นลูกหลานที่เข้าใจภาษาพ่อแม่ พูดไทใหญ่ไม่ได้ แต่พูดไทยคล่อง

ทั้งนี้ไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ มีภาษาถิ่นย่อยหลัก คือ ภาษาไทย ถิ่นกลาง ,ถิ่นอีสาน ,ถิ่นเหนือ และถิ่นใต้ แยกย่อยลงไปอีกกว่า 70 ภาษา อาทิ ภาษาเขมรถิ่นไทย, ม้ง ,มูเซอ,จีนฮ่อ เป็นต้น ที่ผ่านมามีการสำรวจข้อมูลการใช้ภาษาของนักเรียน ครู และชุมชน จาก 21 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในจังหวัดตามแนวชายแดนพบว่าเมื่อ 10ปีที่ผ่านมา มีการใช้ภาษาถิ่นแตกต่างกันกว่า 30 ภาษา บางโรงเรียนนักเรียนใช้ภาษาถิ่นแตกต่างกัน 4-5 ภาษา ปัจจุบันภาษาถิ่นเหล่านี้ลดน้อยลงไปมาก

ยิ่งในเขตเมืองจะพบว่าเด็กรุ่นๆใหม่จะใช้ภาษาถิ่นไทยกลางติดต่อ สื่อสารกันมากกว่าภาษาพื้นถิ่น หรือภาษาเมือง ดังนั้นเพื่อไม่ให้รากชาติพันธุ์ที่มีภาษาเฉพาะกลุ่มอาทิ ภาษายอง, ญ้อ , ลาวหล่ม, กะเหรี่ยง ,มอญ , อาข่า ลบเลือนหายไปจากวิถีชุมชนดั้งเดิม ก.ศึกษาธิการมีนโยบายเน้นย้ำให้โรงเรียน,ชุมชน ร่วมจัดทำโครงการทวิภาษาปรับกระบวนการเรียนการสอน เช่น จัดทำสื่อการเรียนรู้พื้นฐานเชื่อมโยงภาษาถิ่นกับภาษาไทย ให้คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ร่วมกันออกแบบสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเด็กตามบริบทของแต่ละพื้นที่

อย่างไรก็ตามบางพื้นที่ ก็อาจมีอุปสรรคด้านภาษาถิ่น ที่ทำให้เด็กๆนักเรียน สื่อสาร เรียนรู้ยากลำบากเด็กจะเริ่มเรียนด้วยภาษาถิ่น (ภาษาแม่) ก่อน และใช้ภาษาถิ่นในการสอน ค่อย ๆ เติมภาษาไทยเข้าไป เริ่มจากระดับฟัง พูด เข้าสู่ระดับอ่าน เขียน เมื่อเด็กเข้าใจภาษาไทยได้ดีแล้ว จึงจะใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอนอย่างเช่นเด็กทั่วไป

อาจารย์ ประจำภาควิชาสังคมฯ ม.ราชภัฎ เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลที่ครู นักศึกษาของสถาบัน พบเห็นจากแต่ละพื้นที่ ตามจังหวัดใหญ่ๆเช่น เชียงราย,เชียงใหม่ มีการใช้ภาษาถิ่นลดลง ทำให้ภาษาถิ่นที่ใช้ในภาคเหนือตอนบน หรือภาษาล้านนาเดิม ค่อยๆหายไป เด็กๆจะใช้ภาษาไทยกลาง สื่อสารกัน บวกกับคำ ความตามยุคสมัย ในแง่พัฒนาการ คือการปรับตัวได้ดี แต่ที่น่ากังวลคือรากภาษาเดิมๆที่งดงาม ของภาษาถิ่นในแต่ละท้องถิ่นจะเป็นเพียงตำราทางวิชาการที่ต้องสืบค้นในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น