เรื่องหมาๆที่คนต้องรู้ คุมสุนัขจรจัดไม่ได้สังคมอันตราย

กรณีฝูงสุนัขจรจัดที่รวมกลุ่มที่รกร้างในชุมชน หรือบริเวณต่างๆใกล้ที่อยู่อาศัย สถานที่สำคัญๆและตามแหล่งท่องเที่ยว สร้างปัญหารุมขย้ำเด็ก ไล่กัดผู้คนจากการแย่งอาหารที่ผู้มีเมตตาสัตว์ นำไปให้กิน

ล่าสุดเกิดขึ้นอีกในท้องที่ อ.ดอยสะเก็ด เชียงใหม่ ทำให้สารพัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งท้องถิ่น,ปศุสัตว์,อำเภอ ,มากมายหลายภาคส่วน ตระหนักกับความใจบุญของผู้คนที่โยนเศษอาหาร ให้สุุนัข จนบอกต่อๆกันตามสัญชาตญาณสัตว์ถึงแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ มารวมฝูงกัน ถึงขั้นไล่กัดกัน ลุกลามเข้ามาในบ้าน ในชุมชน ขย้ำ กัดเด็กจนบาดเจ็บสาหัส ทั้งๆที่ผ่านมา เคยเกิดเหตุการณ์ สุนัขกัดเด็กจนเสียชีวิตบ่อยครั้ง ก็ยังเกิดเรื่องเช่นนี้อีก

ผู้นำชุมชนและผู้บริหารท้องถิ่น ในเขตเมืองเชียงใหม่และอีกหลายอำเภอ ยอมรับ ปัญหา ฝูงสุนัขตามวัดตามแหล่งท่องเที่ยว แม้จะมีมาตรการจัดการตามนโยบาย ควบคุมการขยายฝูง ทำหมัน จับฉีดวัคซีน ยังไม่สามารถจัดการได้เด็ดขาด เนื่องจากคุมฝูงสุนัขจรจัด สัตว์เลี้ยงเดิมได้ ก็มีฝูงใหม่ หรือมีการแอบนำสุนัขมาปล่อยตามวัด ตามป่า ตามที่รกร้างในชุมชน

น.สพ.จำลอง (นามสมติ ) อดีตปศุสัตว์จังหวัด ท่านหนึ่งเล่าว่า เชียงใหม่ เป็นเมืองท่องเที่ยว ที่มีฝูงสุนัขจรจัด ฝูงเจ้าถิ่น กระจายกันอยู่ การนำสุนัขบ้าน มาปล่อยทิ้ง จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม หรือการหลุดรอดออกมาจากบ้านเรือน จากสัตว์เลี้ยง เป็นสัตว์จรจัด สุนัขที่ไม่ได้ทำหมัน การนำมาปล่อยตามวัด ยิ่งทำให้ผสมพันธุ์ ออกลูกกันมากยิ่งขึ้น บางวัดอยู่ในชุมชน เป็นวัดท่องเที่ยว มีวิธีการ จัดการไม่ให้มีฝูงสุนัข ส่วนที่ปล่อยตามธรรมชาติ ยังเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

หลายๆครั้งมีการไล่กัด ญาติโยม ทำให้เป็นอีกสาเหตุที่ผู้คนไม่อยากเข้ามาวัด เนื่องจากกลัวสุนัขกัด มาตรการขึ้นทะเบียนที่มีค่าใช้จ่าย ตัวละ 450 บาท ไม่สามารถบังคับ นำมาใช้ได้ เพราะมีกระแสต่อต้าน ถ้ายังควบคุมฝูงสุนัขจรจัดไม่ได้ มีแนวโน้มจะเพิ่มสูง ข้อมูลหน่วยงานสำรวจฯล่าสุด 2 ล้านตัว เป็นในอีก 1-2 ปี สังคมจะน่าห่วง จากอันตรายเพราะสุนัขจรจัดที่ดุร้าย

ด้านเจ้าหน้าที่ ซึ่งดูแลโครงการจัดหารสถานที่พักให้สุนัขจรจัด ในเชียงใหม่ ยอมรับว่า การปล่อยสุนัขเลี้ยงมาเพ่นพ่านตามชุมชน เพราะเลี้ยงไม่ไหวมีเพิ่มขึ้น ประกอบกับ มูลนิธิ องค์กรดูแลสัตว์ ขาดงบบริจาคที่ต่อเนื่อง คนทำบุญด้านนี้น้อยลง อาจจะด้วยเหตุผลหลายๆด้าน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจด้วย

ปัจจุบันตามแผนควบคุม ป้องกันเขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้า 100 % ทุกท้องถิ่นทั่วไทย ยังดำเนินการตามเป้าหมายคาดว่าภายในปี 63 น่าจะบรรลุเป้าประสงค์ หากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประการสำคัญต้องควบคุมจัดการสุนัขจรจัด มีมาตรการขึ้นทะเบียน สุนัขที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ในอนาคต

ดังนั้นข้อแนะนำที่สังคมควรตระหนักคือ ถ้าคิดจะเลี้ยงสัตว์เลี้ยง ไม่จำเพาะสุนัข ต้องมีใจรัก ไม่ปล่อยทิ้งขว้าง ให้เป็นภาระสังคม และการนำอาหารไปโยนให้ฝูงจรจรกิน ก็ไม่ควรทำ จะเป็นการสร้างแหล่งอาหารในชุมชน กลายเป็นมหันตภัยที่ฝูงสัตว์เหล่านี้อาจทำร้ายผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาได้ เช่นกรณีที่อ.ดอยสะเก็ด และบริเวณศาลากลางจ.เชียงใหม่

ทั้งนี้สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าปี 2561 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 17 ราย และมีกรณีคดีความเกี่ยวกับสุนัขกับผู้คนอีกหลายคดีที่ฟ้องร้องกัน เนื่องจากไปทำร้ายสุนัขมีเจ้าของ และ สุนัขมีเจ้าของไปกัดผู้คน โดยเฉพาะเด็กจนบาดเจ็บ เสียชีวิตยังมีต่อเนื่องทุกวัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น