เพิ่มห้องเรียนจีนตั้งแต่ ป.1 ปีหน้า ภาษาอังกฤษในกลุ่มเด็กไทยยังต่ำ

ผ้สื่อข่าวรายงานว่าจากการที่ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สรุปผลโครงการห้องเรียนภาษาจีน ว่าปีการศึกษา 2561 ได้เริ่มนำร่องห้องเรียนภาษาจีน ที่สอนทุกวิชาเป็นภาษาจีน ในโรงเรียน 5 ภูมิภาค ซึ่งในภาคเหนือ นำร่องที่ จ.ลำปาง และในปีการศึกษา 2562 จะเพิ่มห้องเรียนภาษาจีนในอีก 7 จังหวัด มี จ.เชียงใหม่ ด้วย

ทั้งนี้ตามแผนเตรียมขยายการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับ ป.1 แต่ติดขัดด้านความพร้อมของครูผู้สอน แม้จะมีครูอาสาจากประเทศจีนมาช่วย แต่ครูอัตราจ้างที่มาสอนภาษาจีน หายาก ขณะนี้ได้เร่งให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) แก้ปมอัตราจ้างในราคาที่เหมาะสม
รวมถึงการปรับเปลี่ยนทุน ที่ผู้ได้ทุนมักจะเลือกไปต่อในประเทศตะวันตก เพราะมีผลการทดสอบภาษาอังกฤษเข้ามาพิจารณา จะมีผลการทดสอบทางภาษาจีน และพยายามผลักดันให้ไปเรียนที่จีนมากยิ่งขึ้น ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนหารือเพื่อกำหนดแผนต่อไป

ด้านอดีตผู้บริหาร สถานศึกษา ในเชียงใหม่ กล่าวว่า กระแสแห่เรียนภาษาจีนนั้น เนื่องจากสังคมไทยเล็งไปที่ประโยชน์จะได้รับจากการติดต่อกับจีน แต่อย่าลืมว่า จีนมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน อัตราการดิ้นรน แข่งขันสูง จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้เด็กจีน ทุ่มเท ฝึกฝนภาษาต่างประเทศ รวมถึงภาษาไทยจนใช้การได้ดี

ในขณะที่ผลการจัดอันดับ ด้านทักษะภาษาอังกฤษ ที่เด็กไทยเรียนมาตั้งแต่ระดับอนุบาล ผลสำรวจของอีเอฟ เอดูเคชันเฟิสต์ซึ่งสำรวจจาก 88 ประเทศ ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก พบว่าไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 64 ของโลก หล่นจากอันดับที่ 53 ในปีก่อน ในเอเชีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 16 จาก 21 ประเทศ

ดังนั้น หากคิดจะขยายห้องเรียนแบบสอนทุกวิชาเป็นภาษาจีน ควบคู่กับอิงลิช โปรแกรม ก็ต้องทำความเข้าใจว่า ที่เชียงใหม่มีโรงเรียนที่เปิดสอนเฉพาะมานานหลายแห่งแล้ว ประกอบกับเชียงใหม่ เป็นเมืองที่ชาวจีน เล็งเห็นโอกาส เข้ามาท่องเที่ยว แล้วลงทุนเพื่อบริการกลุ่มจีนโดยเฉพาะ จนกระทั่งเกิดกรณีปัญหาตามที่ทราบกัน

ด้านเครือข่ายผู้ปกครอง สถานศึกษา ในเชียงใหม่ เขต อ.สันทราย ยอมรับว่า การดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่จะมีทางเลือกทั้งสอนภาษาอัง กฤษและภาษาจีน ในทุกวิชา เพื่อรองรับเด็กที่ผู้ปกครอง สนใจ สนับสนุน เป็นโครงการที่ดี แต่ต้องมองปัญหาที่จะเกิดขึ้นในตลาดแรงงานด้วย เพราะบัณฑิตจีนเอกไทย มีในเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก อาจแย่งงานกันได้

นางประไพ (ขอสงวนนามสกุล) ข้าราชการวัย 48 ปี ระบุว่า คงต้องมองว่า คุ้มค่ากับการก้าวสู่เส้นทางสายนี้หรือไม่ เพราะแค่ภาษาอังกฤษ เรียนมาตั้งแต่ ระดับ ป.1 ยังแย่ ใช้การไม่ได้ อยู่ในลำดับประเมินที่ต่ำมาก ซึ่งทักษะภาษานั้น ต้องอยู่ที่การใช้งานให้มาก การที่เด็กจีนมาเรียนในระดับมหาวิทยาลัย หรือตามสาขาวิชาเอกภาษาไทย ในช่วงไม่กี่เดือน แต่พูด ติดต่อสื่อสารได้ดี มีปัจจัยที่เด็กเหล่านั้นต้องสื่อสารให้ได้ เพื่อให้อยู่ได้อย่างปกติในสังคมพื้นถิ่นนั้นๆ

แตกต่างจากเด็กในบ้านเรา แค่ภาษาพื้นถิ่น พูดเมืองๆยังพูดไม่ได้ ทั้งๆที่พ่อ แม่เป็นคนเมือง แต่การสื่อสารในบ้านพูดไทยกลาง ในขณะที่เด็กต่างด้าว พูดได้ทั้งไทใหญ่ เมียนมา และภาษาอังกฤษ รวมถึงภาษาไทย สภาพแวดล้อม ภาวะการดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอด ก็เป็นสิ่งที่บังคับให้ต้องสื่อสาร ติดต่อเข้าใจ ซึ่งการเรียนในห้องเรียน สภาพแบบนี้ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นอกจากงบประมาณ

ร่วมแสดงความคิดเห็น