ย่านวัดเกตุ แหล่งเฟื่องฟูด้านประวัติศาสตร์

หากกล่าวถึงย่านวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงใหม่คงไม่เอ่ยถึง “ย่านวัดเกตุ” ไม่ได้แล้ว ย่านแห่งนี้มีความเจริญทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก หากใครได้มีโอกาสมาเยือนจะสังเกตเห็นแม้กระทั่งที่อยู่อาศัยของคนในละแวกนั้นยังเป็นบ้านอายุ 80 -90 ปี แบบล้านนาเหลืออยู่มาก ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะมีวิถีชีวิตที่ปรับเข้ากับสภาพสังคมในปัจจุบันแล้วก็ตาม แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่สะท้อนความเป็นคนดั้งเดิม มีร่องรอยของอดีตและชาวบ้านมีภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ความเก่าแก่ไม่เพียงแต่บ้านที่มีให้คนรุ่นหลังได้เห็น เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2542 ชาวบ้านในย่านวัดเกตุได้ร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์วัดเกตุขึ้นมาด้วยความศรัทธาและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรม ชาวบ้านได้ร่วมบริจาคและรวบรวมสิ่งของเก่าแก่มากมายหลายชนิดรวมกว่าหมื่นชิ้นเพื่อนำมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน ทั้งนี้ได้สร้างขึ้นในพื้นที่ของวัดเกตการาม (เดิมชื่อวัดสระเกตุ) เมื่อผู้มาเยือนได้ย่างก้าวเข้าไปในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเห็นกลุ่มผู้ดูแลซึ่งเป็นชาวบ้านคอยให้ความรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์พวกเขาเหล่านี้มาทำด้วยความหวังที่ว่าพิพิธภัณฑ์วัดเกตุแห่งนี้จะเป็นแหล่งการศึกษาสำหรับคนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี

การแสดงของพิพิธภัณฑ์ส่วนหน้าอาคารนั้นจะจัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องดนตรีล้านนา และเมื่อเข้ามาในอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดงออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆคือ ส่วนแรกเป็นห้องโถงแสดงสิ่งของชุมชนและพระพุทธรูปศิลปะพม่าเพื่อให้ผู้มาเยือนได้สักการะบูชา ส่วนที่สองแสดงสิ่งของในอดีตและแสดงผ้าโบราณพระชายาเจ้าดารารัศมี ส่วนที่สามแสดงของสิ่งของเครื่องใช้ในอดีตซึ่งจะมีป้ายติดนามผู้บริจาค ส่วนที่สี่แสดงภาพถ่ายล้านนาในอดีต และส่วนนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ด้านฝั่งตะวันตกเป็นส่วนแสดงกลองล้านนา เครื่องดนตรีซึ่งจะเป็นพื้นที่ฝึกฝนศิลปะล้านนาให้กับเยาวชนในชุมชนระหว่างวันเสาร์ อาทิตย์เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมล้านนาให้ยั่งยืนต่อไป

วัดเกตุการามมีประวัติความเป็นมามากมายที่เล่าขานกันในด้านประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ภายในวัดยังมีเจดีย์ที่ไว้ให้ผู้มาเยี่ยมเยือนได้สักการะบูชาเพื่อเป็นความเชื่อนั่นคือ “พระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณี” เป็นพระธาตุประจำปีจอ เป็นศิลปะล้านนาอิทธิพลสุโขทัย ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จ แต่ละมุมมีเจดีย์บริวารและปูนปั้นพญาครุฑ พระพุทธรูปปางประทานพรประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำ 4 ด้าน องค์เจดีย์ทรงระฆังคว่ำประดับกระจกสี และทองจังโกดุนลาย ส่วนยอดเป็นฉัตรสีทอง 7 ชั้น สร้างจำลองพระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาไว้บนโลกมนุษย์ องค์พระธาตุเอียงเล็กน้อยซึ่งเป็นความตั้งใจของผู้สร้าง เพราะไม่ต้องการให้ยอดเจดีย์ชี้ขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อแสดงความอ่อนน้อม และไม่ล่วงเกินต่อพระเจดีย์เกศแก้วจุฬามณีองค์จริง นอกจากจะบูชาเจดีย์ด้วยธูปเทียนแล้วชาวล้านนายังบูชาด้วยโคมอีกด้วย เพื่อให้โคมดังกล่าวลอยไปนมัสการพระธาตุบนสวรรค์นั่นเอง

เมื่อได้สำรวจความงามภายในวัดเกตุการามแล้วก็ถึงคราวต้องออกมาเดินสำรวจความงามรอบๆด้านในย่านวัดเกตุบ้าง ถัดออกมาจากวัดเกตุการามได้ไม่มากนักจะเหลือบไปเห็นศาสนสถานคุรุดวาราหรือวัดซิกข์ ซึ่งมีประวัติว่า ชาวซิกข์คนแรกที่เดินทางเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่คือ นายอีเชอร์ ซิงห์ โดยเข้ามาทางประเทศพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2448 หลังจากนั้นมีชาวซิกข์มารวมเพิ่มขึ้นอีก 4 ครอบครัวคือ นายรัตตัน ซิงห์ นายเกียน ซิงห์ นายวาเรียอาม ซิงห์และนายอมารดาส ซิงห์ จึงได้พร้อมกันจัดตั้งศาสนสถานหรือวัด (Gurdwara) ขึ้นโดยสร้างเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว มีลานกว้างสำหรับประกอบพิธีทางศาสนา การตั้งหลักแหล่งของชาวซิกข์จะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกันเป็นกลุ่มและใกล้รอบศาสนสถานหรือวัดของตน เนื่องจากวัดของชาวซิกข์มีบทบาทอย่างสูงต่อชุมชนทั้งทางกิจกรรมสังคมและเศรษฐกิจ ในระหว่างปี พ.ศ.2447 มีศาสนาจารย์ชื่อ ราม ซิงห์ เป็นศาสนาจารย์ประจำวัดแห่งนี้ ต่อมาในปี พ.ศ.2518 ชาวซิกข์เชียงใหม่ก็ได้บูรณะวัดของตนขึ้นมาอีกครั้งเป็นอาคารถาวรตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

ตลอดระยะเวลาของการเดินทางในย่านวัดเกตุที่เต็มไปด้วยอารยวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์อีกทั้งยังเป็นย่านแหล่งรวมศาสนา คงไม่แปลกที่จะมีศาสนาอิสลามอาศัยอยู่ในย่านแห่งนี้ด้วย เดิมก่อนจะมาเป็นชุมชนมุสลิมอย่างเช่นทุกวันนี้ เคยเป็นที่อยู่อาศัยของคนพื้นเมืองกลุ่มใหญ่ ซึ่งเดิมอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ของโรงเรียนจิตต์ภักดีปัจจุบัน ก่อนหน้านั้นมีการอยู่ร่วมกันหลายชาติพันธุ์ ลักษณะเป็นชุมชนแออัด ขาดระเบียบวินัย มีทั้งซ่องโสเภณี ร้านขายเหล้าทั่วชุมชน มีมุสลิมอาศัยปะปนในชุมชนนี้ไม่เกิน 10 ครอบครัว มีทั้งมุสลิมเชื้อสายจีนยูนนาน อินเดียเชื้อสายปากีสถาน บังคลาเทศ ชาวมุสลิมมีการเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น มีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กันในกลุ่มมุสลิมกันเอง คนอินเดียเชื้อสายปากีสถานในย่านนี้เป็นคนที่อยู่ใต้ปกครองของนักล่าอาณานิคมอังกฤษ ติดตามเจ้านายอังกฤษเพื่อมาทำงานกลุ่มหนึ่งและผู้อพยพกลุ่มหนึ่ง ส่วนในเรื่องความสัมพันธ์ของมุสลิมในย่านนี้ค่อนข้างดี มีการไปมาหาสู่กันโดยผ่านทางวิถี ประเพณี พิธีกรรมทางศาสนาซึ่งมีมัสยิดอัต-ตักวาเป็นศูนย์รวมจิตใจ

โบสถ์ไม้คริสต์จักรที่ 1 อีกหนึ่งศูนย์รวมจิตใจของผู้นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ความสนใจมาชม นักท่องเที่ยวจะพบสุสานฝังศพบุคคลสำคัญชาวตะวันตกของเชียงใหม่และพระรูปสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ณ สุสานฝรั่ง รำลึกถึงความรุ่งเรืองของการแสวงอาณานิคมในอดีต นับได้ว่าบ้านวัดเกต เป็นศูนย์รวมคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา ซึ่งทุกเชื้อชาติที่กล่าวมานี้ ส่วนมากมาจากการแต่งงานกับคนในพื้นที่ผสมผสานกลมกลืนกลายเป็นคนเมืองย่านวัดเกต มากกว่านั้นคือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน เอื้ออาทรต่อกันประดุจพี่น้อง นับได้ว่าบ้านวัดเกต เป็นตัวอย่างที่ดีในการอยู่ร่วมกันเลยก็ว่าได้ อีกทั้งยังเป็นย่านที่มีร่องรอยทางด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านประวัติศาสตร์ให้นักท่องเที่ยวหรือคนรุ่นหลังได้สัมผัสในรูปแบบวิถีชีวิตที่เรียบง่ายอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น