กกต.ลำพูน เปิดศูนย์ประสานงานสืบสวนและไต่สวนการเลือก ส.ว. อย่างเป็นทางการ พร้อมการรับเลือกจาก 10 กลุ่มอาชีพ

เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2561 ที่ศูนย์ประสานงานสืบสวนและไต่สวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลำพูน ชั้น 3 อาคารสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลำพูน(สนง.กกต.ประจำจว.ลำพูน) หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน นายนพดล สุยะ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลำพูน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสืบสวนและไต่สวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิดศูนย์ประสานงานสืบสวนและไต่สวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดลำพูน อย่างเป็นทางการ

เพื่อเตรียมความพร้อมการรับเลือกสมาชิกวุฒิสภาของจังหวัดลำพูน ที่จะมีการเปิดรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 ณ ที่ว่าการอำเภอและสำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร(กทม.) ทั่วประเทศ จำนวน 928 แห่ง โดยเปิดรับผู้สมัคร ส.ว. ที่มีคุณสมบัติ ประกอบด้วย ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันสมัครรับเลือก มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี

ผู้สมัครต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ เป็นบุคคลซึ่งเกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือก มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันสมัครรับเลือก ทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี รวมถึงเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา

นายนพดล ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลำพูน กล่าวว่า สนง.กกต.ประจำ จว.ลำพูน กำหนดจัดประชุมเวทีเครือข่าย ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ณ ห้องประชุม ชั้น 3 สนง.กกต.ประจำ จว.ลำพูน เป็นการจัดกิจกรรมตามโครงการผลิตสื่อและให้ความรู้กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ดีเจประชาธิปไตย ผู้มีอำนาจทำการแทนองค์กรเอกชน(ออช.)ที่มีสำนักงานใหญ่ที่ตั้งในจังหวัด ผู้แทนกลุ่มสตรี ผู้แทน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน(กศน.)จังหวัด และ กศน.อำเภอ รวมจำนวน 50 คน เพื่อสามารถนำไปสื่อสาร เผยแพร่ความรู้ ไปถ่ายทอดต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ให้ประชาชนและชุมชนได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กระบวนการและขั้นการได้มาซึ่ง ส.ว. ถือเป็นการเตรียมความพร้อมการเลือก ส.ว. ที่จะเกิดขึ้นอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดให้มี ส.ว. 200 คน แต่ในวาระแรก 5 ปี ให้มี ส.ว. 250 คน จาก 3 ช่องทาง คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สรรหาจำนวน 194 คน ผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คน และเลือกโดยกลุ่มวิชาชีพ โดยการเลือก 3 ระดับ คือ อำเภอ จังหวัด และประเทศ ได้ 200 คน จากนั้นส่งให้ คสช.คัดเลือก 50 คน สำหรับ ส.ว.สรรหา ตามบทเฉพาะกาลที่มีวาระ 5 ปี ไม่ได้มีหน้าที่เพียงกลั่นกรองกฎหมาย แต่ยังมีภารกิจพิเศษคือ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อีกด้วย

“สมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ 2560″ในปี 2475 สมาชิกวุฒิสภาถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็น สภาพี่เลี้ยงแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยจะแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในสาขาต่าง ๆ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงที่มาจากแต่งตั้ง เป็นเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เหมือน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา โดยตรงนี้เอง ที่ทำให้ต้องใช้ฐานเสียงของนักการเมืองเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง นอกจากนั้น ยังให้อำนาจแก่ สมาชิกวุฒิสภา ในการ “ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วย จึงมีความพยายามจากฝ่ายการเมืองที่จะเข้าครอบงำ สมาชิกวุฒิสภา ดังที่ทราบ จึงเป็นการยากที่ สมาชิกวุฒิสภาจะมีความเป็นกลาง ในการปฏิบัติหน้าที่

หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงที่มาของสมาชิกวุฒิสภาโดยใช้ระบบผสม กล่าวคือ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนส่วนหนึ่ง กับ สมาชิกวุฒิสภา สรรหา อีกส่วนหนึ่ง ก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้น เพราะ สมาชิกวุฒิสภา เลือกตั้ง ยังคงอิงกับระบบการเมือง ส่วน สมาชิกวุฒิสภา สรรหานั้นขาดความยึดโยงกับประชาชน จึงไม่อาจแก้ไขความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ได้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงเห็นความสำคัญของ สมาชิกวุฒิสภา ตามหลักการการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายการเมือง ดังเช่นที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่ในฐานะสภาพี่เลี้ยงแต่กำหนดให้เป็น “สภาพลเมือง” โดยจะช่วยพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้รอบด้าน ตามหลักการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมในการตรากฎหมาย อันจะทำให้กฎหมายต่าง ๆ มีความรอบคอบ รอบด้านมากขึ้น ทั้งได้มีการตัดอำนาจของ สมาชิกวุฒิสภาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพราะ ที่ผ่านมามีการแทรกแซง สมาชิกวุฒิสภา ในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้น จึงมิได้กำหนดให้ สมาชิกวุฒิสภา มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป

ระบบการเลือกสมาชิกวุฒิสภา กับการมีส่วนร่วมของประชาชนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาครั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนได้ร่วมกันลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งถือได้ว่าประชาชนได้เห็นชอบในบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแล้ว บทบัญญัติที่กำหนดขึ้นใหม่ เป็นการแก้ปัญหาจากการเลือกตั้งที่อาศัยฐานเสียงทางการเมืองเพราะต้องหาเสียง ต้องใช้หัวคะแนน แต่หากมาจากการแต่งตั้งก็ถูกกล่าวหาว่าขาดความ ยึดโยงกับประชาชน ดังนั้น จึงได้กำหนดให้ สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกกันเองของประชาชนพลเมืองผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือมีสถานะต่าง ๆ เช่น ผู้พิการ ฯลฯ หรือเคยทำงานในด้านต่าง ๆ จากทุกภาคส่วนที่หลากหลายของสังคม

เปิดโอกาสอย่างกว้างขวาง ให้ประชาชนพลเมืองทุกคน ซึ่งมีคุณสมบัติสมัครเข้ารับการเลือกได้โดยสะดวก เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนพลเมืองเข้ามา “มีส่วนร่วมโดยตรง” ในการใช้อำนาจอธิปไตย แล้วให้ผู้สมัครแต่ละด้านเลือกกันเอง

กระตุ้น และสร้างความเข้าใจ ให้ประชาชนเข้าใจถึงบทบาทประชาชนในสังคมประชาธิปไตย ที่ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมด้านการอาสา เสนอตัว คัดเลือกบุคคลที่จะมาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่เพิกเฉยต่อโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งต้องให้ความสำคัญยิ่งกว่าประโยชน์ของตนเอง

หน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปตามหลักการพื้นฐาน ด้านการถ่วงดุลอำนาจในการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะด้านการพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสมาชกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ สามารถยังประโยชน์แก่ประชาชน หรือสังคมโดยส่วนรวมอย่างที่สุด ทั้งนี้ เพราะผู้จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือเคยทำงานในด้านต่าง ๆ จากภาคส่วนที่หลากหลายของสังคม เห็นชอบการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ.

ร่วมแสดงความคิดเห็น