‘เวทีการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร ‘นักบริหารระดับกลาง’ กระทรวงการคลัง รุ่นที่ 2 เช้าวันนี้

วันที่​ 23 พ.ย. 61​ เวลา 09.00 น. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม บรรยายพิเศษ เรื่อง ‘คุณธรรมนำพาชีวิต ความเป็นข้าราชการที่ดี’ ให้แก่ ข้าราชการในสังกัดหน่วยงานภายในกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรเป็นผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม และมีกรมธนารักษ์ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เข้าร่วมการฝึกอบรม เป็นรุ่นที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2562

ม.ล.ปนัดดา กล่าวในตอนหนึ่งของการบรรยายพิเศษ ความว่า :

“นักวิชาการ ครูอาจารย์ต่างวิเคราะห์และนำเผยแพร่เป็นสารัตถะทางความรู้และวิสัยทัศน์ทางการบริหาร อีกทั้งหลายสำนักโพลล์ ซึ่งมีความหลากหลายทางความคิดในเรื่องการเมืองการปกครองไทยในอนาคต ซึ่งผู้เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องให้ความสนใจติดตามไม่มากก็น้อย เข้าทำนอง รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม ไม่ใช่ปล่อยให้ตนเองกลายเป็นคนตกข่าว ตกยุคสมัย ไม่ใส่ใจเรื่องราวใดๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวและไกลตัว

ตัวข้าพเจ้ารับราชการมากว่า 36 ปี ตั้งแต่ข้าราชการประจำชั้นต้น กระทั่งได้เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ภูมิใจที่สุด คือ การได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ‘ครุฑทองคำ’ จากสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย และรางวัลข้าราชการผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตจากสำนักงาน ป.ป.ช.”

ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า เมื่อตนมองย้อนกลับไป ก็พอจะมีคำตอบสำหรับผู้ที่ตั้งคำถามขึ้นบ่อยครั้งในช่วงหลังๆ นี้ ซึ่งตนอาจจะขอเลี่ยงเป็นคำตอบในเชิงการทูต เพราะร่ำเรียนมาทางนี้ตั้งแต่เด็ก อีกทั้งบุพการีเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตในหลายประเทศ ตอบตรงมากไปหรือเอ่ยถึงใครผู้ใดก็มีแต่จะเสียกำลังใจ ซึ่งโดยมารยาทเขาไม่กระทำ ตนอยากมองว่า หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและหลักการประชาธิปไตยที่สร้างสรรค์จะเกิดความยั่งยืนได้นั้น ประการสำคัญต้องขจัดความเห็นแก่ตัว ความโลภโมโทสัน ความสุดโต่งทางความคิด ออกไปให้ได้ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแวดวงทางการเมือง การมีต้นแบบ หรือ ‘Role Model’ ที่ทุกคนให้การยอมรับนับถือ จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกๆ คน

ม.ล.ปนัดดา กล่าวด้วยว่า ในบางประเด็นที่เคยเป็นความขัดแย้งครั้งก่อนๆ หนนี้จะไม่ใช่ เพราะเชื่อว่าหลายฝ่ายคิดได้แล้ว คิดอย่างรอบคอบด้วย เกิดความตระหนัก ประจักษ์ ว่าการลบหลู่ดูหมิ่นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ กลายเป็นความผิดพลาดหรือการก้าวพลาดของผู้อยู่ในแวดวงทางการเมือง ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะไม่กระทำซ้ำอีก บทเรียนจากครั้งก่อนในช่วงเวลาประมาณกว่าสิบปีที่ผ่านมา จะไม่ให้ใครกระทำผิดซ้ำ ที่ถือเป็นบาป จะไม่กลับมาเป็นความผิดที่ปราศจากการเรียนรู้และสร้างความตระหนัก แต่จะช่วยกันพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมในระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยให้มีความยั่งยืน เราทุกคนต้องช่วยกันขบคิดในเชิงบวกในเรื่องเช่นนี้ ไม่ใช่ท้อแท้หรือคิดในเชิงลบ

“ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลมาจากการไม่เสนอแนะหรือทัดทานฝ่ายการเมืองจากฝ่ายประจำ ซึ่งจะช่วยให้หนักกลายเป็นเบา แต่หากทัดทานแล้วไม่เชื่อ ก็ต้องถือเป็นเรื่องของเวรกรรม ที่ไปกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งผิดแล้วผิดเลย แก้ไขไม่ได้ ทำให้เสียโอกาสไปหลายๆ อย่างแบบน่าเสียดาย

ความยั่งยืนทางการบริหารและการปกครองอันหมายถึง ‘หลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย’ จากนี้ไป จะวัดกันด้วยคุณความดีอย่างเป็นรูปธรรม ความรู้ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต ความจริงใจ หลักคุณธรรมจริยธรรมล้วนๆ ไม่มีการปรุงแต่ง และด้วยความระมัดระวังทางพฤตินิสัย การกระทำในเรื่องใดๆ ก็ตาม จะไม่ผลีผลาม รู้จักการยับยั้งชั่งใจ จะไม่มีประเด็นอื่นใดที่ทำให้ผู้คนออกมาแสดงความขัดแย้งกันบนท้องถนน เป็นสีโน้นสีนี้ หรือการไฮปาร์คว่ากล่าวกันเองด้วยการลบหลู่ดูหมิ่นขนบธรรมเนียมประเพณีในหมู่ประชาชนคนไทยด้วยกันเองอีกต่อไป ในทางกลับกัน ประชาชนจะเรียกร้องหาความสมัครสมานสามัคคี ความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์สุจริต และจบลงซึ่งการใส่ร้ายป้ายสี ว่ากล่าวกันในสิ่งที่ปราศจากความจริง คนไทยจะไม่มีความแตกแยกหรือเป็นศัตรูต่อกัน หากทุกผู้ทุกฝ่ายช่วยกันรักษากฎกติกาและยึดมั่นในหลักสุจริตธรรมตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

กล่าวไปทั้งหมดข้างต้นนี้ อาจเรียกว่าเป็นอุดมคติ เป็นแนวคิดที่ชนส่วนใหญ่อยากแลเห็นความรู้รักสามัคคีเกิดขึ้นในหมู่พี่น้องชาวไทย และช่วยกันดำรงรักษาหลักธรรมาภิบาลแก่สังคม ที่สถาบันข้าราชการต้องเป็นหลักชัยแห่งความสำเร็จที่ยั่งยืน เป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน ไม่กระทำความผิดพลาดเกิดขึ้นหรือเป็นแบบอย่างอันไม่พึงประสงค์”

ร่วมแสดงความคิดเห็น