ท่องเที่ยวจังหวัดแพร่

จังหวัดแพร่ เป็นจังหวัดที่ใครหลายคนมองข้ามเพราะเป็นทางผ่านไปยังจังหวัดสุดฮิตอื่น ๆ ในภาคเหนือแต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเมืองแพร่นี้มีความน่ารักไม่แพ้เมืองอื่นๆของภาคเหนือเลยทีเดียวเพราะแพร่เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีตำนานเล่าขานถึงความรุ่งเรืองมายาวนานรวมถึงเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์อีกทั้งยังมีแหล่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ให้ไปเยือนได้ตลอดทั้งปีวันนี้เชียงใหม่นิวส์และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จ.แพร่จะพาทุกคนมาหลงเสน่ห์เมืองแพร่กัน

เริ่มต้นด้วยสถานีรถไฟบ้านปิน สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ. 2457 โดยการรถไฟแห่งสยาม และมีนายช่างชาวเยอรมัน ชื่อ เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง สถานีรถไฟแห่งนี้อายุ 101 ปีแล้ว สถานีบ้านปิน เป็นสถานีรถไฟแห่งแรกของประเทศไทยที่สร้างด้วยสไตล์”ฟาร์มเฮ้าส์”แบบบาวาเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมมากในแคว้นบาวารเรียนของเยอรมัน ว่ากันว่าด้วยเขตเมืองแพร่ที่เป็นแหล่งป่าไม้ที่มีความสมบูรณ์ที่สุด กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นายช่างชาวเยอรมันออกแบบสถานีเล็กๆ แห่งนี้โดยออกแบบผสมผสานให้เข้ากับเรือนปั้นหยาแบบไทยๆ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในยุคนั้นด้วย

สถานีรถไฟบ้านปิน จึงเป็นอาคารสองชั้น ตัวตึกประดับด้วยไม้หลังคาจั่วและปั้นหยาประตูหน้าต่างเป็นบานลูกฟักไม้เหนือบานประตูหน้าต่างและหน้าช่องจำหน่ายตั๋วประดับด้วยไม้ฉลุลายพรรณพฤกษาแลงามตาเป็นที่สุด ชวนให้ต้องตะลึงแล้วสุขใจ เหมือนได้พบบาวาเรียนเฟรมเฮ้าส์ต้นแบบ ที่ฟรังโคเนีย ในแคว้นบาวาเรีย ของเยอรมัน

ต่อมาเราจะพาคุณผู้ชมไปที่ “ร้านขนมจีนน้ำย้อนแม่ลาน”ขนมจีนน้ำย้อย เมนูขึ้นชื่อของอำเภอลองจังหวัดแพร่ เปิดมาแล้วกว่า 12 ปี คุณกฤษณาเจ้าของร้านเป็นคนคิดค้นสูตรเองจุดเด่นของทางร้านอยู่ที่เส้นขนมจีนที่มีขนาดเล็กและเหนียวนุ่ม บีบเส้นด้วยมือส่วนน้ำพริกน้ำย้อยของทางร้านมีหอมแดงเป็นตัวชูโรง ทานคู่กับเส้นน้ำย้อยปรุงรสด้วยน้ำปลาเล็กน้อย จะได้รสชาติกลมกล่อม

เมื่ออิ่มท้องกันเสร็จแล้ว เราจะพาทุกท่านไปชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมล เป็นพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2532 โดยสร้างตัวตึกเลียนแบบสถานีรถไฟบ้านปิน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณแห่งนี้ เน้นจัดแสดงผ้าโบราณของเมืองลองเป็นหลัก  ภายในพิพิธภัณฑ์นอกจากมีผ้าโบราณ ของเมืองลองอายุร้อยกว่าปี ยังมีผ้าที่ได้รับรางวัลจากการประกวดทั้งในและต่างประเทศ ผ้าที่ทอขึ้นใหม่ใน โอกาสพิเศษหรือเพื่อการสะสม และผ้าซิ่น จากแหล่งต่างๆทั่วประเทศ จัดไว้ให้ชมพร้อมกับภาพถ่ายการแต่งกายของเจ้านายล้านนาและราชสำนักสยาม รวมถึงเครื่องแต่งกายในภาพยนตร์หลายเรื่องที่อาจารย์โกมลรับผิดชอบจัดหาเครื่องแต่งกายให้นักแสดง นอกจากนี้ยังมีวัตถุโบราณจัดแสดงสลับกับผ้าตามความเหมาะสมเพื่อเล่าเรื่องราวในอดีต อาจารย์โกมลอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ทุกวัน เพื่อรอรับแขกที่มาเยือนและเล่าถึงความเป็นมาของผ้าทุกผืนด้วยตัว

และที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ก็เป็นแหล่งผลิตผ้าที่สำคัญมาตั้งแต่โบราณผ้าของเมืองลองมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร โดยเฉพาะ “ผ้าตีนจก”เป็นผ้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับแม่ประนอม ซึ่งได้ความรู้การทอมาจากป้าแต่เป็นการเรียนแบบครูพักลักจำ แม่ประนอมเล่าว่าเริ่มทอผ้าเมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อน โดยแอบดูป้าเวลาทอผ้าที่ใต้ถุนบ้านพอป้าไปอาบน้ำก็จะแอบมาทอต่อ ตรงไหนผิดก็ถามป้าและใช้ความพยายามเรียนรู้จนจับทางได้ จนทอเป็น แกะลายได้ ด้วยความใฝ่รู้ทำให้แม่ประนอมเริ่มมีชื่อเสียง ที่บ้านของแม่ประนอมที่อำเภอลองกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมผ้าจกโดยยกย่องว่าที่เมืองลองเป็นถิ่นกำเนิดผ้าตีนจก และยังเป็นจุดจำหน่ายผ้าทอตามตำรับแม่ประนอมซึ่งบางผืนเป็นผลงานของลูกศิษย์ลูกหาที่แม่ประนอมจะขึ้นลายทอให้และที่บ้านแม่ประนอมยังเป็นที่เก็บสะสมผ้าโบราณ มีผ้าที่แม่ได้รางวัลจากการประกวดหลายร้อยผืนรวมทั้งผ้าโบราณอายุ 200 ปี ให้คนที่สนใจได้ศึกษาชื่นชมทำให้พื้นที่ทั้งชั้นล่างและชั้นบนของบ้านตระการตาไปด้วยผ้าหลายร้อยผืน

 จุดหมายต่อไปของเรา คือร้านกาแฟแห่ระเบิด (Bomb March Coffee) เป็นบ้านไม้เก่าแก่ทรงล้านนาวางตัวโดดเด่นสะดุดตาอยู่ริมถนนสายหลักในพื้นที่ ต.บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ตกแต่งด้วยสไตล์อาร์ตๆ แนวดั้งเดิมได้ยินชื่อร้านทีแรกก็นึกแปลกใจว่าทำไมต้องแห่ระเบิดพอก้าวเข้ามายังด้านในที่มีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายขาวดำเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของเมืองแพร่ ที่สำคัญมีการตอบคำถามอย่างละเอียดถึงที่มาที่ไปของตำนานแพร่แห่ระเบิดด้วยเชษฐา สุวรรณสา เจ้าของร้านหนุ่มใจดี ยืนต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มระรื่นพลางเชื้อเชิญอย่างสุภาพ ขณะที่พวกเราบางคนร้องสั่งเครื่องดื่มบางคนเดินเที่ยวชมนิทรรศการด้วยความสนใจใคร่รู้ ในร้านนอกจากแต่งแบบสุดชิกสไตล์เหนือแล้วยังมีเนื้อหาเรื่องราวแหล่งท่องเที่ยวเมืองแพร่ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ประวัติความรู้เกี่ยวกับเมืองแพร่ติดไม้ติดมือไปด้วย

พอช่วงค่ำ เราจะพามานั่งรถรางเที่ยวเมืองแพร่กันซึ่งเส้นทางรถวิ่งนั้นเป็นเขตเมืองเก่า ที่มีความน่าสนใจไม่ว่าจะเป็นความงดงามของวัดวาอารามสถาปัตยกรรมบ้านเรือนโบราณต่างๆรวมถึงวิถีชีวิต ผู้คนในเขตเมืองเก่าที่ยังคง เปลี่ยนแปลงไปไม่มากนักนับเป็นเสน่ห์อันน่าสนใจของจังหวัดแพร่ซึ่งการนั่งรถรางท่องเที่ยวสามารถตอบโจทย์การท่องเที่ยวตรงนี้ได้เป็นอย่างดีจุดบริการรถรางสถานีหลักจะเริ่มต้นที่คุ้มเจ้าหลวงซึ่งจะพานักท่องเที่ยวกินลมชมวิว ผ่านสถานที่สำคัญรอบตัวเมืองเก่าทั้งหมด 19 จุดโดยรถรางแต่ละเที่ยวจะมีมัคคุเทศก์คอยให้คำแนะนำประจำรถและบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆที่รถรางแล่นผ่าน

ตื่นเช้ามาหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ เราก็ไปเที่ยวสบายๆที่หมู่บ้านนาคูหา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ยอดดอยสูง ในตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ห่างจากตัวเมือง แพร่ประมาณ 25 กิโลเมตร แวะกราบสักการะพระธาตุอินทร์แขวนจำลอง ตั้งอยู่ที่ศูนย์ ปฏิบัติธรรมมหาโพธิวงศาจริยาราม พุทธอุทยานดอยผาสวรรค์ เฉลิมพระเกียรติ ร.9 เป็นพระธาตุประจำปีเกิด ปีจอ ซึ่งนอกจากจะได้สักการบูชาพระธาตุอินทร์แขวนจำลองแล้วก็เข้าหมู่บ้านกันได้เลย

หมู่บ้านนาคูหาตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาและธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์แหล่งโอโซนอันดับ 7 ของประเทศ เป็นดัชนีชี้วัดได้อย่างดีว่า “บ้านนาคูหา”  ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ หมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขามีอากาศบริสุทธิ์ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่น่าสนใจและยังถูกจัดให้อยู่ใน1 ใน5ของเส้นทางการท่องเที่ยวเกษตรสีเขียว ชุมชนที่นี่จะอาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขาทำให้ทรัพยากรทางธรรมชาติของบ้านนาคูหามีความอุดมสมบูรณ์มากจุดแรกที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและจุดเช็คอินของที่นี่ก็คือวัดนาคูหาที่มีความโดดเด่นโดยมีการสร้างพระพุทธรูป หรือ พระเจ้าตนหลวงไว้กลางทุ่งนาสีทองขององค์พระตัดกับสีเขียวของทุ่งนาต้นข้าวและภูเขาที่ล้อมรอบเป็นภาพที่สวยงามและชวนให้ผู้คนที่แวะเวียนไปต่างก็กดชัตเตอร์ถ่ายรูปรัวๆ กันทุกคนนอกจากนั้นทางวัดและหมู่บ้านได้ร่วมกันทำสะพานไม้ไผ่ลัดกลางทุ่งนาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับความสวยงามของธรรมชาติอย่างใกล้ชิด

สะพานไม้ไผ่พาเดินไปจนสุดก็จะเป็นสวนผสมที่ปลูกพืชหลากหลาย ที่นาคูหานอกจากจะมีทุ่งนาสวยงาม ยังมีกิจกรรมเรียนรู้ชุมชนอีก เช่น การทำผ้ามัดย้อม โดยใช้ฮ้อม เพราะที่นี่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกฮ้อมและผลิตฮ้อมแห่งหนึ่งที่ครบวงจรมากที่สุดของจังหวัดแพร่ นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้ทุกกระบวนการทำฮ้อม และยังได้ทดลองทำผ้ามัดย้อมของตัวเองอีกด้วย

ใกล้ๆ กับศูนย์เรียนรู้ฮ้อมก็มีบ่อเตา หรือ สาหร่ายน้ำจืดที่ชุมชนได้เพาะไว้ในบ่อหลายบ่อ ชาวบ้านจะมาเก็บเตาเพื่อนำไปประกอบอาหาร หรือ นำไปขายที่ตลาดให้นักท่องเที่ยว ใครที่ชอบก็ซื้อกลับไปปรุงอาหารได้ สำหรับรสชาติของเตานั้นก็จะจืดๆ แต่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ

สำหรับทริปนี้ เราก็จะไปจบกันที่บ้านทุ่งโฮ้งเพราะจังหวัดแพร่มีชื่อเสียงด้านผ้าหม้อห้อมซึ่งบ้านทุ่งโฮ้งเป็นแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อม ที่ใหญ่ที่สุด มีการสืบทอดกันมายาวนานสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนด้วยเสน่ห์ของการย้อมผ้าแบบธรรมชาติโดยใช้วัตถุดิบจากต้นฮ่อม ในอดีตนั้นผ้าหม้อห้อม เป็นผ้าฝ้ายทอมือหรือผ้าดิบสีขาวเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาของชาวไทพวนบ้านทุ่งโฮ้งบ้านป้าเหงี่ยมจะมีกิจกรรมสำหรับให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจได้ลองลงมือทำด้วยตัวเองโดยการสาธิตจะใช้เทคนิคการทำผ้ามัดย้อมด้วยห้อมซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายสามารถออกแบบลวดลายได้ตามใจชอบและเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบอย่างมากนอกจากนี้บ้านป้าเหงี่ยมยังมีการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศเพราะผู้คนเริ่มหันมาใช้ผ้าที่ย้อมสีธรรมชาติมากขึ้นเพราะไม่เป็นอันตรายต่อผู้สวมใส่และสภาพแวดล้อม ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติอีกด้วย

จังหวัดแพร่ เป็นเมืองที่มีเสน่ห์เต็มไปด้วยศิลปะวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สวยงามเหมาะกับการหนีความวุ่นวายมาพักผ่อนแบบสบายๆที่นี่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกที่ทุกแห่ง มาเรียนรู้และพักผ่อนกายพักผ่อนใจให้เติมอิ่ม เพราะที่นี่ยังคงรักษาความดีงามทางวัฒนธรรมให้อยู่คู่กับธรรมชาติที่สวยงามให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบทอดต่อไป ท้ายที่สุดนี้ต้องขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จ.แพร่ ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวในครั้งนี้ มา ณ ที่นี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น