ขยะทองคำท้องถิ่น ศูนย์ขยะภาคเหนือหมกเม็ดอื้อ!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน่วยงานตรวจสอบโครงการจัดการขยะขององค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.)หลายภาคส่วน ทั้ง สตง, ปปช.ติงความคุ้มค่าของแผนศูนย์จัดการขยะมูลฝอยครบวงจร หรือแม้แต่โรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะในชุมชน ต้องมุ่งประโยชน์ตามเป้าหมาย มากกว่าเน้นเร่งใช้งบแล้วตามแก้ปัญหาภายหลัง หมกเม็ดการใช้งบกันเพียบ

ทั้งนี้มีตัวอย่างหลายแห่ง ไม่ว่าจะเชียงใหม่ ที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งผลต่อแผนดำเนินงานที่ไม่คุ้มค่า ไม่ลุล่วงตามแผน กลายเป็นเศษซากโครงการประจานความล้มเหลวในการใช้งบหลายร้อยล้านบาท ในขณะที่ภาคเอกชน สามารถดำเนินการจนผลิตพลังงานก๊าซชีวภาพ จากหลุมฝังกลบ(แอลพีจี.) ที่อ.ฮอด 2 แห่งได้กำลังผลิตและขายคุ้มทุน

สำหรับโรงงานไฟฟ้าจากขยะ ที่เปิดใช้งานได้ของ อปท.มีเพียง 32 แห่ง ซึ่งเชียงใหม่พยายามดำเนินการแต่ไม่ผ่านประชาคม ทุกพื้นที่ยกเว้นที่ฮอดของ บ.ท่าเชียงทองและ บ.บ้านตาล โดยรับซื้อขยะจากนครเชียงใหม่เป็นวัตถุดิบป้อนโครงการฯ

อย่างไรก็ตามรายงานการตรวจสอบของสตง. เกี่ยวกับการจัดการขยะพบว่าบางอปท. เสนอขอใช้งบลงทุนกว่า 332.21 ล้านบาทเพิ่มเติมเพื่อ จัดการสร้างศูนย์ขยะฯ มีภาระค่าไฟปีละกว่า 1 ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อปี 54 แต่ติดขัดปัญหาในระบบต้องใช้งบเพิ่มตามที่เสนอ หลังจากใช้ไปแล้วกว่า 239 ล้านบาท

ผู้บริหารท้องถิ่น ในพื้นที่ภาคเหนือ หลายแห่งไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่,เชียงรายและลำพูน ชี้แจงผ่านรายงานศึกษาความเหมาะสมโครงกาก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ว่า การจะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้นั้นต้องมีปริมาณขยะมูลฝอยเช้าสู่ระบบ 500 ตัน/วัน

ปัญหาที่ผ่านๆมาการมีส่วนร่วมของ อปท.ใกล้เคียง ไม่มีความพร้อม มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง มีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ปล่อยโครงการร้าง และหมู่บ้าน ชุมชน ส่วนหนึ่งไม่แยกประเภทขยะ ทำให้โรงงานที่ต้องรับซื้อขยะเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าปฏิเสธการรับซื้อ

นอกจากนั้น การมีผลประโยชน์ทับซ้อนจากขยะ ของนักการเมืองบางกลุ่มบางพวก ร่วมกับกิจการรีไซเคิล ส่งผลต่อโครงการขยะทองคำ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะของชุมชน ไม่บรรลุเป้าประสงค์ ทั้งๆที่ตามแผนของหน่วยงานรัฐฯนั้นต้องการให้ชาวบ้านชุมชน มีส่วนร่วม และรายได้ที่เกิดขึ้นจากการคัดแยก เพื่อประโยชน์สาธารณะของชุมชนนั้นๆ

ร่วมแสดงความคิดเห็น