ม.ล.ปนัดดา ให้การต้อนรับลูกหลานเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ครูอาจารย์ ข้าราชการบำนาญ ในการเข้าทัศนศึกษา ‘วังวรดิศ’

เมื่อเช้าวันที่ 25 พ.ย. 61 เวลา 08.30 น. ณ วังวรดิศ ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ในฐานะเจ้าของวังวรดิศ ให้การต้อนรับลูกหลานเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ครูอาจารย์ ข้าราชการบำนาญ ในการเข้าทัศนศึกษา ‘วังวรดิศ’ พิพิธภัณฑ์และหอสมุดสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หอภาพดิศวรกุมาร และรับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง ‘หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เดินตามรอยพระยุคลบาท’

ม.ล.ปนัดดา กล่าวในความตอนหนึ่งของการพบปะสนทนา และการบรรยายพิเศษ ว่า :
“คุยกันถึงเรื่องประชาธิปไตย ที่เป็น ‘Hot Issue’ วันนี้ในหลายๆ ประเทศ บ้างพูดถึงประชาธิปไตยที่สร้างสรรค์และมีระเบียบ (procedural democracy) ควรเป็นเช่นไร บ้างพูดถึงประชาธิปไตยแบบปลอมแปลง (fake democracy) หรือประชาธิปไตยแบบเบ็ดเสร็จ (totalitarian democracy) หรือรูปแบบการปกครองที่ทำให้บุคคลมีความรู้สึกอนาถใจเกี่ยวการเมืองในประเทศของตน (politics makes you miserable) ฯลฯ

นิยามความหมายทางวิชาการทั้งในทางกฎหมายลายลักษณ์อักษรและจารีตประเพณีที่เป็นหลักสากล คือ ระบอบการปกครองที่ถือมติประชาชนเป็นใหญ่หรือเสียงสวรรค์ การถือเสียงข้างมากเป็นสำคัญ ที่เสียงนั้นมีความโปร่งใส เพียบพร้อมด้วยหลักคุณธรรมจริยธรรม อธิบายให้ลูกหลานเยาวชนฟังง่ายๆ ก็คือ ‘เสียงคนส่วนใหญ่ (voice of the majority with morality definition : beliefs about what is right behavior and what is wrong behavior) ประกอบด้วยคุณธรรมจริยธรรม’ ไม่ทุจริต ไม่คดโกง ไม่ใช้ระบบธุรกิจการเมือง (business politics) แอบแฝง ไม่แบ่งแยกผู้คนเรียกเป็นสีเป็นฝ่ายเป็นสีของผลไม้ ตกสมัยแล้วการกล่าวอะไรเช่นนี้ ไม่พูดคำว่าหัวหน้ากลุ่มคนสีนั้นสีนี้ สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นอดีตหมดสิ้น แลัวจะปรองดองสมัครสมานกันอย่างไรได้ ไม่เอาเปรียบฝ่ายตรงข้ามกระทั่งเป็นภยันตรายต่อระบบการเมืองการปกครอง กติกาและแนวทางปฏิบัติต้องโปร่งใสและมีความสอดคล้องต้องกัน”

ม.ล.ปนัดดา เล่าว่า “เด็กๆ ถามต่อว่า การหาเสียงหาคะแนนพูดจาหยาบคายได้ไหม? กล่าวใส่ร้ายป้ายสีได้ไหม? กล่าวคำเท็จจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาได้ไหม? ห้ำหั่นถึงขั้นเข้าฟาดฟันให้แหลกกันไปข้างหนึ่งได้หรือไม่? ฯลฯ

คำถามต่างๆ เหล่านี้เด็กๆ ถามเองแล้วช่วยกันตอบในรูปแบบกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งน่าชื่นชมยินดี โดยกล่าวว่า ‘ถ้าการกระทำถึงขั้นนี้ ย่อมไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว’ แต่กลายเป็นสังคมคนพาล ลูกหลานตอบถูก คือ ‘เป็นสงครามกลางเมือง’ หรือ ‘civil war’ หลายคนให้ข้อคิดที่ดี แล้วเหตุการณ์เช่นนี้ก็จะนำไปสู่อุบัติเหตุทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่าน่าเบื่อหน่าย จากนี้ไปต้องเลิกแบ่งแยกเป็นสีเป็นฝ่ายโดยเด็ดขาด แม้จะรู้กันเองในใจใครเป็นใคร อยู่ข้างไหน แต่ไม่ต้อง ‘spell out’ โกหกหรือจริงใจ เรื่องใครเรื่องเขา บาปกรรมของใครของเขาเช่นกัน ต้องยุติพูดเรื่องสี มองว่าคนที่ยังไม่ยอมยุติพูดเรื่องสี คือผู้ต้องการความแตกแยกตัวจริง ระบบการเมืองคงต้องเดินย่ำอยู่กับที่ คือ สอบตกขึ้นชั้นไม่ได้สักที เห็นควรกำหนด ‘political code of ethics’ ให้มีความชัดเจนที่สุด

ความสำเร็จจะวัดกันที่ความซื่อสัตย์สุจริตล้วนๆ หลักคุณธรรมจริยธรรม ความรู้ความสามารถในทางวิชาการ ความไม่เอารัดเอาเปรียบ มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน ปัญหาในสังคมขาดตกบกพร่องอย่างไรตรงไหนต้องช่วยกันปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่ากล่าวให้ร้ายบ้านเมืองของตนเอง ไม่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ ข้อสุดท้ายที่เด็กๆ อยากเห็น คือ ความพอเพียง ความไม่ฟุ่มเฟือย ความไม่คุยโวโอ้อวด ความมีไมตรีจิตต่อกัน ตามพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน เมืองไทยจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างสง่างามและมีความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยแบบไร้ขื่อแป แต่เป็นประชาธิปไตยที่ยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ผู้บริหารมีคุณธรรมเปี่ยมล้น”

ร่วมแสดงความคิดเห็น