เจ้าของโรงงานบุกโวย รัฐปล่อยให้มีการลอบขนบุก ไปนอกเขตจังหวัด

เจ้าของโรงงานผลิตบุกเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ โวย ไม่ได้เป็นนายทุนและบีบซื้อบุกจากชาวบ้านแต่อย่างใด แฉมีกระบวนการของกลุ่มพ่อค้าคนกลาง ที่รวมไปถึงกลุ่มที่จดทะเบียนค้าบุกอย่างถูกต้องลอบนำบุกส่งไปขายที่จังหวัดตากและพื้นที่อื่นนอกจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งที่ได้มีการร้องเรียนไปยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้ว แต่ก็เพิกเฉยไม่ดำเนินการแก้ไขหรือหามาตรการป้องกันแต่อย่างใด ส่อให้เห็นถึงกระแสข่าวกรณีที่ว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีเอี่ยวกับกลุ่มขบวนการดังกล่าวชัดเจนมากขึ้น

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 นายอกนิษฐ์ วัฒนา เจ้าของบริษัท สยามคอนยัค จำกัด เลขที่ 52/2 หมู่ 1 ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ตนได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรณี ไม่ได้รับหัวบุกตามที่ได้มีการชำระค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่าล่วงหน้าไปแล้ว โดย จำนวนหัวบุกที่เก็บตามใบอนุญาตในส่วนของบริษัท ประชารัฐสามัคคีแม่ฮ่องสอน(วิสาหกิจสังคม) จำกัด 206,500 กก. แต่มีการส่งมอบบุกเพียง 2,500 กก. คิดเป็นปริมาณบุกที่ได้รับ 1.2 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ได้มีการชำระค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่าเป็นการล่วงหน้าประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหัวบุกทั้งหมด

จากตรวจสอบของบริษัท สยามคอนยัค จำกัด พบว่า ทางบริษัทไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากไม่ได้รับหัวบุกเต็มจำนวนตามที่ได้เสียค่าภาคหลวงล่วงหน้า อันมีสาเหตุเนื่องมาจาก 1. สาเหตุมาจากพบว่า เจ้าหน้าที่ของ บริษัท ประชารัฐสามัคคีแม่ฮ่องสอน (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ได้นำใบอนุญาตเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ในโควตาที่บริษัท ฯ ได้ชำระค่ามัดจำล่วงหน้าเป็นค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่า ไปขายหรือไปเรียกเก็บเงินค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่าจากบุคคลอื่น , 2. เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวของบริษัทประชารัฐ ฯ และ 3. เกิดจากมีกลุ่มขบวนการลักลอบนำบุกในพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนส่งออกไปขายยังจังหวัดตาก ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอนโดยตรง

ล่าสุดจากการตรวจสอบเอกสารใบเสร็จรับเงิน ของ บริษัทประชารัฐสามัคคี(วิสาหกิจสังคม) จำกัด พบว่า ทางบริษัท ฯ ดังกล่าว ได้มีการนำบุกไปจำหน่ายให้ผู้ประกอบการค้ารายอื่นๆ และมีการเรียกเก็บค่าภาคหลวงและค่าภาษีบำรุงป่า อีกรายละ 4 บาท แบ่งเป็นค่าภาคหลวงและบำรุงป่า 3 บาท และเก็บเข้ากองกลางของบริษัท ประชารัฐ ฯอีก 1 บาท ซึ่งถือว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการผิดเงื่อนไขสัญญาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรณีการเรียกเก็บค่าภาคหลวงและภาษีบำรุงป่าซ้ำซ้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกบุกและเก็บบุก และผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปบุก รวมไปถึงการละเมิดข้อสัญญาของในบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการรับอนุญาตเก็บหาของป่า(หัวบุก)ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ท้องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ในข้อ 7 เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมบุกในพื้นที่ ห้ามส่งหัวบุกสดออกนอกเขตจังหวัดโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจังหวัดจะเพิกถอนใบอนุญาต

ทั้งนี้พบว่า บริษัทประชารัฐสามัคคีแม่ฮ่องสอน(วิสาหกิจสังคม) จำกัด ได้มีการลอบส่งบุกออกไปจำหน่ายให้กับกลุ่มพ่อค้าใน จ.ตาก ในนาม บริษัท 99 ไทยคอนยัค จำกัด ผ่านวิสาหกิจชุมชนปลูกและแปรรูปบุกบ้านสบเลาะ ต.แม่สวด อ.สบเมย ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนกับทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน อย่างถูกต้อง

นายอกนิษฐ์ วัฒนา เจ้าของบริษัท สยามคอนยัค จำกัด เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับบริษัท สยามคอนยัค จำกัด ได้รับสัมปทานโควตาบุกจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในฤดูกาลปีนี้ จำนวน 1 ล้านกิโลกรัม จากจำนวนสัมปทานทั้งหมด 2 ล้านกิโลกรัม ซึ่งในจำนวนสัมปทานนั้น ทางบริษัท ฯ จะต้องเสียค่าภาคหลวงและภาษีบำรุงป่า ต่อรัฐจำนวน ร้อยละ 50 ล่วงหน้า เดิมบริษัทได้เริ่มเปิดโรงงานแปรรูปหัวบุกสด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 และรับซื้อบุกจากราษฎรในพื้นที่มาโดยตลอด และต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2542 ได้ทำเรื่องขออนุญาตเก็บหาจากรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อตัดปัญหาการติดสินบนใต้โต๊ะแก่เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยมีบุกจากจังหวัดตาก ส่งป้อนโรงงานวันละประมาณไม่ต่ำกว่า 20 ตัน หรือ 20,000 กก. โดยได้มีการแปรรูปบุกสดเป็นบุกผง ส่งไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นโดยตรง

ในส่วนของต้นทุนการแปรรูปบุกสดเป็นบุกแห้ง บุกสดจำนวน 8 กก.จะผลิตเป็นบุกแห้ง / บุกแผ่น และผงบุก ได้ 1 กก. ปัจจุบันต้นทุนการแปรรูปบุกจากสดเป็นแห้ง จะอยู่ที่ กก.ละ 220 ซึ่งในราคานี้ จะรวมทั้งค่าแรง ค่าการเดินเครื่องจักรในการผลิต และอื่นๆ หากมีการรับซื้อบุกเกินราคา กก.ละ 20 บาท จะขาดทุนทันที แต่พบว่า ยังคงมีการลักลอบส่งบุกไปขายยังจังหวัดตาก และ ทางโรงงานเหล่านั้นให้ราคาสูง กก.ละ 27 บาท ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีการแปรรูปบุกในพื้นที่จังหวัดตาก แต่จะมีการส่งบุกสด ไปขายให้กับพ่อค้าชาวจีน ซึ่งทราบว่า ให้ราคา กก.ละ 40-50 บาท

เจ้าของโรงงานแปรรูปบุกสยามคอนยัค กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันพบว่า ได้มีกลุ่มนักลงทุนชาวจีน เข้ามากว้านซื้อบุกในพื้นที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยให้ราคาสูงกว่าท้องตลาดกว่าเท่าตัว และที่สำคัญมีการรับซื้อไข่บุก หรือเมล็ดพันธุ์บุก ของแม่ฮ่องสอนในราคา สูงถึง กก.ละ 80 บาท และขายต่อให้พ่อค้าชาวจีนในกก.ละ 300 บาท แล้วลอบส่งไปยังประเทศจีน ทั้งนี้พบว่าการลอบเข้ามาซื้อไข่บุกในจังหวัด ฯ ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 4 ปี เพื่อนำพันธุ์บุกจากแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพันธุ์บุกที่มีคุณภาพสูงไปปลูกในจีน และอีกไม่นานคาดว่า บุกที่ผลิตจากประเทศจีน จะออกสู่ท้องตลาด และตีตลาดบุกของไทย ในประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี อย่างแน่นอน จึงอยากจะวิงวอนให้หน่วยงานรัฐเข้ามาดูแลปัญหาเรื่องการลักลอบส่งพันธุ์บุกไปขายยังประเทศจีนด้วย

สำหรับกลุ่มขบวนการลักลอบส่งออกบุกไปยังจังหวัดตาก และลำพูนมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มของนาย ส.ซึ่ง อดีตนักการเมืองระดับประเทศคนหนึ่ง และกลุ่มที่เป็นกรรมการในบริษัทคนกลางบริษัทหนึ่งแม่ฮ่องสอน โดยกลุ่มของนาย ส. จะนำบุกจากพื้นที่ อ.แม่ลาน้อย ใช้เส้นทางเข้าที่แยกสารภี – บ้านห้วยห้อม – บ้านดง – แยกบ้านแม่ละอูบ ไปทะลุที่ บ้านอมพาย – บ้านแม่โถ และไปบรรจบที่ทางหลวง 108 บ้านกองลอย จ.เชียงใหม่ จากนั้นเลี้ยวเข้าเขต จ.ลำพูนก่อนถึงเชียงใหม่ เพื่อส่งบุกให้กับกลุ่มของ ดาบลี่ กับกลุ่มของป้าตา ซึ่งเป็นนอมินี รับซื้อบุกให้กับพ่อค้าชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนกลุ่มที่ 2 มีนาย ส.เป็นนักการเมืองท้องถิ่นใน อ.แม่สะเรียง และมีนาย อ. ลูกน้องของนักการเมืองระดับชาติ เป็นมือทำงาน ลอบลำเลียงบุกจากพื้นที่อำเภอสบเมย เลาะผ่านแม่น้ำแม่เงา ผ่านบ้านสบโขง ต.แม่สวด แล้วลำเลียงไปลงเรือที่บ้านท่าเรือ ส่งออกไปยังจังหวัดตาก โดยมีการลำเลียงผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่อย่างสะดวก นอกจาก 2 กลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีกลุ่มคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ อ.สบเมย และอ.แม่สะเรียง ร่วมมือกับกลุ่มชนกลุ่มน้อย กระเหรี่ยงอิสระ ลอบขุดบุกในเขตไทยในป่าสาละวินและป่าในเขตพม่าตรงข้ามป่าสาละวิน แล้วลำเลียงบุก ลงเรือ ล่องตามน้ำสาละวิน ไปขึ้นที่ท่าเรือแม่ตะวอ อ.ท่าสองยาง และส่งไปจังหวัดตากผ่านจังหวัดเมียวดี

แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานหนึ่งในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระบุว่า ปัญหาเรื่องบุก ในปัจจุบัน เกิดจากกลุ่มพ่อค้าคนกลาง ที่มีการลักลอบนำบุกส่งออกนอกเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน และนำไปขายยังจังหวัดตาก และ จังหวัดลำพูน โดยที่จังหวัดตากจะมีการรับซื้อบุกในราคา กก.ละ 27 บาท ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ในพื้นที่จังหวัดตาก มีโรงงานแปรรูปบุกและรับซื้อบุก ที่ได้รับอนุญาต จำนวน 8 โรงงาน และมีการได้รับโควต้าสัมปทานหัวบุกสด รวมทั้งหมด จำนวน 1.7 แสน กิโลกรัม หากมาเฉลี่ยแล้วจะพบว่า แต่ละโรงงานจะมีบุกสดป้อนเข้าโรงงานเพียง 21,000 กก.ซึ่งถือว่าเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง ทั้งนี้โรงงานแต่ละโรงหากจะประกอบกิจการแปรรูปบุก ในการเดินเครื่องให้คุ้มทุนจะต้องมีบุกป้อนเข้าโรงงานไม่ต่ำกว่า 15,000 – 20,000 กก.ต่อวัน แสดงว่า โรงงานแปรรูปบุกสดของจังหวัดตาก ในห้วงฤดูกาลเก็บหัวบุก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ไปจนถึงเดือน กุมภาพันธ์ 2562 โรงงานแปรรูปบุกในจังหวัดตากทุกโรง จะสามารถเดินเครื่องแปรรูปบุก ได้เพียงวันเดียว เท่านั้น แล้วทุกวันที่มีการเดินเครื่องมาโดยตลอด โรงงานเหล่านั้น นำบุกจากไหนไปแปรรูป

สำหรับปัญหาเรื่องบุก เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 เวลา 15.00 น. นายสมบูรณ์ ไพรวัลย์ อดีตสส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยทนาย ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางจังหวัดเชียงใหม่ ฟ้อง เจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 5 ราย ได้แก่ 1.นายประจวบ อาจารพงศ์ รองผวจ.แม่ฮ่องสอน , 2. ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน , 3.นายจำลอง ป๊อกแก้ว เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแม่ฮ่องสอน , 4. นายผอบ บินสะอาด นายอำเภอสบเมย และ 5. นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผวจ.แม่ฮ่องสอน ในข้อหาให้ยกเลิกคำสั่งห้ามนำบุกส่งออกไปจำหน่ายนอกเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยระบุว่าคำสั่งดังกล่าว มิชอบด้วยกฎหมาย

นายสมบูรณ์ ไพรวัลย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เดิมการรับซื้อบุกมีโรงงานเดียวที่บ้านทุ่งแล้ง และมีเพื่อนคนจีน มารับซื้อ และระบุว่า บุกในแม่ฮ่องสอน มีคุณภาพสูงกว่า จังหวัดตากและกาญจนบุรี เดิมพ่อค้าและประชาชน จะเสียค่าภาคหลวงและสามารถนำบุกลำเลียงออกไปขายยังต่างจังหวัดได้ แต่ปัจจุบันเจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นบุกป่าทั้งที่เป็นบุกของสมเด็จพระเทพ ฯ ที่ทรงมอบเมล็ดพันธุ์ ให้ราษฎรปลูกทั้งสิ้น ทีการปลูกข้าวโพด ในป่าทั้งสิ้น แต่กลับไม่มีการจับกุมจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด มาเน้นจับกุมที่บุกแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่การปลูกบุก ไม่มีการทำลายป่า ซึ่งมีการปลูกบุกใต้ต้นไม้ใหญ่ในป่าและไม่ได้มีการถางป่า เหมือนปลูกพืชอย่างอื่น ทั้งนี้ อยากให้ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทบทวนมาตรการค้าบุกให้ชัดเจน ทุกวันชาวบ้านถูกป่าไม้ ทหาร อส.ไปจับกุมและยึดบุก บางคนขับจักรยานยนต์มาและมีบุกไม่กี่ กิโลกรัม กลับถูกจับกุมปรับถึง 2 หมื่น อยากถามว่า การจับกุมและนำของกลางที่ประมูลไปขายให้โรงงาน ถือว่าเป็นธรรมหรือไม่ ที่สำคัญในปีนี้กลับให้บริษัทประชารัฐมารับซื้อ จากชาวบ้าน และมีการเก็บค่าภาคหลวงและอ้างว่าได้รับสัมปทานจากจังหวัดแล้ว มีชาวบ้านในพื้นที่ ต.แม่เหาะ และป่าแป๋ ถูกเรียกเก็บค่าภาคหลวงจากบริษัทประชารัฐ โดยไม่มีใบเสร็จและไปเรียกเก็บในป่า เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ บริษัทประชารัฐ ได้รับอนุญาต ให้เก็บของป่า หรือบุกในพื้นที่ตำบลท่าผาปุ้ม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เท่านั้น นอกจากพื้นที่ ต.ป่าแป๋ ต.แม่เหาะ และ ต.แม่ลาหลวง และ อำเภอ อื่นๆ 4 อำเภอ เช่น พื้นที่ตำบลป่าแป๋ และตำบลแม่เหาะ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของ อำเภอแม่สะเรียง กลับถูกบริษัทประชารัฐ เรียกเก็บค่าภาคหลวง โดยมีการไปเรียกเก็บค่าภาคหลวงในพื้นที่ ที่ บ.ห้วยปู่เป๊าะ ต.แม่ลาหลวง บ.ห้วยงู ต.ป่าแป๋ บ.อุมมา ต.แม่คะตวน และ ต.สบเมยทั้งตำบล

อาคม โกทู อายุ44 อยู่ 47/1ม.5 ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่าใน ปีนี้มีคำสั่งไม่ให้ส่งบุกไปขายข้ามจังหวัด แต่กลับมีบริษัทมารับซื้อ 3 แห่งและตั้งโรงงานรับซื้อในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และอ.สบเมย ซึ่งรับซื้อในราคา 18-19 บาท รวมค่าภาคหลวง แต่ถ้าไปขายที่ตาก ขายได้ 28-29 บาท ชาวบ้านปลูกบุกในโครงการปลูกป่าสร้างรายได้ ในโครงการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา กลับ มีปัญหาเรื่องการขนย้าย ถูกเจ้าหน้าที่ไล่จับกุม ทำให้ได้รับความเดือดร้อน อยากจะฝากไปถึงผู้ใหญ่ในจังหวัด ว่า ชาวบ้านเดือดร้อนมาก การเสียค่าภาคหลวงเสีย กก.ละ 3 บาท จ่ายที่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแม่ฮ่องสอน ต่อมามีบริษัทประชารัฐก่อตั้งขึ้นมาและรับซื้อ ต้องเสียค่าภาคหลวงให้ประชารัฐรวม 4 บาท ต่อกก. โดยประชารัฐอ้างเสียให้ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ ฯ ไปแล้วในราคา กก.ละ 3 บาท และบริษัทประชารัฐ เก็บเข้าบริษัทอีก 1 บาท โดยมีการบีบให้ขายให้บริษัทประชารัฐ อีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น