เตรียมเฮ!! รถไฟฟ้ารางเบาผ่านหน้าบ้านใครบ้างในเมืองเชียงใหม่ระยะก่อสร้าง 69 เดือน

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 เวลา 13.30 น. ที่ ห้องประชุม 5 ชั้น 5 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 3/ 2561 โดยได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับความคืบหน้าของผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งแนวทางการบริการจัดการความเร็วในพื้นที่ชุมชน ตลอดจน ผลกระทบกับปัญหาการจราจรในตัวเมือง

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้มีความคืบหน้าเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษาการดำเนินการศึกษา และได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนมนกิจการของรัฐ (PPP) ได้มีความคิดเห็นว่าควรดำเนินการก่อสร้าง ครั้งละ 1 เส้นทาง ซึ่งกระทรวงคมนาคม (คค.) ได้พิจารณามอบ รฟม. ดำเนินการรายละเอียดความเหมาะสมตามรูปแบบโครงสร้างทางวิ่งผสมระหว่างใต้ดินและระดับดิน (โครงข่าย A) เป็นระบบรถไฟฟ้าแบบรางเบา (Light Rail Transit: LRT) อยู่ในแนวทิศเหนือ – ใต้ ผ่านพื้นที่กิจกรรมหลักสำคัญ ได้แก่ โรงพยาบาลนครพิงค์ , ศูนย์ราชการเชียงใหม่ , สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี , ศูนย์ประชุมนานาชาติ , มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ , สถานีขนส่งช้างเผือก , โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม , โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ , โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ , สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ , ห้างสรรพสินค้าแอร์พอร์ตพลาซ่า , สำนักงานขนส่งจังหวัด และห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีหางดง ด้าน รฟม. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชกฤษฎีกาให้ รฟม. ดำเนินการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต

ด้าน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขณะนี้ได้อยู่ในระหว่างการคัดเลือกที่ปรึกษาเพื่อศึกษาการออกแบบ และการดำเนินตาม พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของภาครัฐ จัดทำรายงาน EIA คาดว่าจะเริ่มงานประมาณต้นปี 2562 และเสนอ ครม. พิจารณารูปแบบการร่วมลงทุนประมาณปลายปี 2562 หลังจากนั้นจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนประมาณต้นปี 2563 และจะเริ่มงานการก่อสร้างประมาณต้นปี 2564 ซึ่งมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 69 เดือน โดยคาดว่าจะเปิดการให้บริการในต้นปี 2570

นอกจากนี้ คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดเชียงใหม่ ได้เห็นชอบให้มีการกำหนดในเขตเทศบาลเป็นเขต Slow city ขับขี่ในอัตราความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวน 10 เส้นทาง ประกอบด้วย ถนนมณีนพรัตน์ , ถนนชัยภูมิ , ถนนคชสาร , ถนนราชเชียงแสน , ถนนช่างหล่อ , ถนนบุญเรืองฤทธิ์ , ถนนศรีภูมิ , ถนนอารักษ์ , ถนนบำรุงบุรี และถนนมูลเมือง โดยเจ้าหน้าที่จะทำการขีดเส้น หรือ ติดตั้งสัญญาณจราจร และจะพิจารณาปิด-เปิดการจราจรตามความเหมาะสมหรือเห็นสมควรต่อไป

CR:อภิชาติ เฮงพลอย

ร่วมแสดงความคิดเห็น