30 พ.ย.นี้ ชวนตื่นเช้าชม “ดาวศุกร์สว่างที่สุด” ครั้งสุดท้ายของปี

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนชม “ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งสุดท้ายของปี” เช้ามืด 30 พ.ย.นี้ ปรากฏสว่างสุกใส ทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เชิญชวนผู้สนใจตื่นเช้าชมปรากฏการณ์ดังกล่าว เห็นด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ ตื่นตายิ่งขึ้นหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะเห็นเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า วันที่ 30 พ.ย.2561 ดาวศุกร์กลับมาปรากฏสว่างที่สุดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะมีความสว่างปรากฏมากถึงแมกนิจูด -4.7 (ดวงจันทร์เต็มดวงมีความสว่างปรากฏ แมกนิจูด -12.6) สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00-06.00 น. บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะเห็นดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์

การที่ดาวศุกร์สว่างมากที่สุด จะเป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม ในปีนี้จะปรากฏในลักษณะดังกล่าว 2 ครั้ง ครั้งแรกตรงกับวันที่ 25 ก.ย.2561 ที่ผ่านมา ปรากฏในเวลาหัวค่ำ และครั้งนี้ในวันที่ 30 พ.ย.2561 จะปรากฏเวลาเช้ามืด สำหรับในช่วงวันอื่น ๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่เนื่องด้วยตำแหน่งอยู่ห่างจากโลกมาก ขนาดปรากฏลดลง ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย หลังจากวันที่ 30 พ.ย.ความสว่างปรากฏของดาวศุกร์ จะลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ยังคงมองเห็นสว่างโดดเด่นบนท้องฟ้าในช่วงเวลารุ่งเช้ายาวไปจนถึงเดือน ก.ค.2562

นายศุภฤกษ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2561 ที่ผ่านมา ดาวศุกร์อยู่ในตำแหน่งห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันออกมากที่สุด (Greatest Eastern Elongation) (จากภาพประกอบ ตำแหน่งดาวศุกร์เรียงจากซ้ายไปขวา) เราจึงมองเห็นดาวศุกร์สว่างบริเวณขอบฟ้าทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏประมาณครึ่งดวง จากนั้นดาวศุกร์เคลื่อนไปอยู่ตำแหน่งปรากฏสว่างที่สุดครั้งแรกในวันที่ 25 ก.ย.2561 ใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ เห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ และในวันที่ 26 ต.ค.2561 ดาวศุกร์ได้โคจรมาอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก เรียกว่า ตำแหน่งร่วมทิศแนววงใน (Inferior Conjunction) ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ และหลังจากวันดังกล่าว ดาวศุกร์จะปรากฏในเวลารุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ จะเห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวหนาขึ้นเรื่อย ๆ

จนกระทั่งวันที่ 30 พ.ย.2561 ที่จะถึงนี้ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุดอีกครั้งหนึ่ง และในวันที่ 6 ม.ค.2562 ดาวศุกร์จะโคจรอยู่ในตำแหน่งห่างจากดวงอาทิตย์ไปทางทิศตะวันตกมากที่สุด (Greatest Western Elongation) หากใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏประมาณครึ่งดวงอีกครั้ง ซึ่งตำแหน่งนี้เหมาะสำหรับสังเกตดาวศุกร์มากที่สุดเช่นกัน เนื่องจากอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มาก จะมีเวลาสังเกตได้นานขึ้น นายศุภฤกษ์กล่าว

ดาวศุกร์ เป็นดาวเคราะห์วงในลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก จึงไม่สามารถเห็นดาวศุกร์สว่างเต็มดวงได้ แต่จะปรากฏเป็นเสี้ยวให้เห็น ความหนาบางของเสี้ยวแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่ง และปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้มากที่สุด 47.8 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางฟ้าหรือในเวลาดึก ๆ ทั้งนี้ หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืด คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”

ร่วมแสดงความคิดเห็น