“มูลนิธิโครงการหลวง” แนวพระราชดำริเพื่อส่งเสริมอาชีพให้ชาวเขา

ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เพื่อดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับพืชเมืองหนาว ทั้งนี้เพื่อให้ชาวเขาได้ปลูกทดแทนการปลูกฝิ่นและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการเสด็จประพาสต้นบนดอยในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานแนวพระราชดำริและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดตั้งโครงการหลวง เพื่อพัฒนาการเกษตรที่สูง ลดการปลูกฝิ่นและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร โดยได้ช่วยเหลือชาวไทยภูเขาในท้องถิ่นทุรกันดาร ในระยะแรกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่อว่า “โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ทรงพระราชทานโปรดเกล้าแต่งตั้งหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนีดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฯ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โครงการหลวงพัฒนาชาวเขา” , “โครงการหลวงภาคเหนือ” และ “โครงการหลวง”

กระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ.2535 จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานให้โครงการหลวงเปลี่ยนสภาพโดยการจดทะเบียนเป็น “มูลนิธิโครงการหลวง” อันมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์ และมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นองค์ประธานมูลนิธิและผู้เกี่ยวข้องอีก 9 ท่านร่วมเป็นกรรมการ ปัจจุบันงานของมูลนิธิโครงการหลวงได้แผ่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอนและพะเยา ซึ่งประกอบด้วยสถานีวิจัย 4 แห่ง,ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 35 แห่ง มีวัตถุประสงค์ในการที่จะช่วยชาวเขาให้มีอาชีพที่มั่นคงเพื่อทดแทนการทำลายทรัพยากรธรรมชาติคือป่าไม้และต้นน้ำลำธารและทดแทนการปลูกฝิ่นที่ในเวลานั้นชาวเขาส่วนใหญ่จะมีการปลูกฝิ่นกันมาก

การดำเนินงานในด้านส่งเสริมอาชีพให้ชาวเขาของมูลนิธิโครงการหลวงแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม คือ งานทดสอบสาธิตและงานส่งเสริมพัฒนาอาชีพ งานทดสอบสาธิต มีการจัดทำแปลง สาธิตเพื่อช่วยรวมสายพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ทั้งไม้ดอก ผัก ไม้ผลเพื่อทดสอบและศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการผลิต ทั้งยังมีการทดสอบให้ชาวเขาปลูกพีช พลัม พลับ สาลี่และองุ่น นอกจากนี้ยังมีการสาธิตปลูกไฮเดรนเยีย เพื่อตัดดอก งานทดสอบคัดเลือกและขยายพันธุ์ คาร์เนชั่น ลิเอทริส หน้าวัว แวกซ์ฟราวเวอร์ แคลล่าลีลี่ อัลสโตรมีเรียและเฟิน

ส่วนงานส่งเสริมพัฒนาอาชีพ มีการส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรโดยการทำแผนการปลูกพืชเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด งานส่งเสริมที่สำคัญคือการส่งเสริมให้มีการปลูกพืชผักตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังมีการแนะนำแก่เกษตรกรให้มีความรู้ความ ชำนาญในด้านเกษตร กิจกรรมเพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคมที่ทางมูลนิธิโครงการหลวงได้พยายามที่จะให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมก็คือ การจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านทอผ้าและเย็บผ้า กลุ่มเยาวชนโดยการจัดการแข่งขันกีฬาต้านยาเสพติด กลุ่มผู้ปลูกผัก ไม้ดอก ไม้ผลเพื่อช่วยให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าหมาย

ในส่วนของงานพัฒนาและอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้มีการประสานงานกับหน่วยจัดการต้นน้ำที่ 5 ในการจัดตั้งกลุ่มผู้ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ในบริเวณแหล่งต้นน้ำลำธาร ดูแลรักษาไฟป่าโดยการทำแนวกันไฟและจัดเวรยามเพื่อป้องกันไฟป่า นอกจากนั้นในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ดำเนินการจัดทำฝายกั้นน้ำเพื่อชะลอการไหลของน้ำ แนะนำให้เกษตรกรทำปุ๋ยหมักแปลงปลูกพืชและดำเนินการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน งานพัฒนาปัจจัยพื้นฐานสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินงานร่วมกับ อบต. คณะกรรมการหมู่บ้านต่าง ๆ โรงเรียนและหน่วยงานของราชการในการจัดทำระบบน้ำอุปโภคบริโภค พัฒนาถนนเข้าหมู่บ้าน เพื่อให้การคมนาคมขนส่งสะดวก จัดให้หมู่บ้านมีหลุมขยะทิ้งเป็นหลักแหล่ง ทางด้านสาธารณสุขได้ประสานงานกับงานพัฒนาศึกษาและสังคมจัดตรวจสุขภาพและให้ความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัวให้แก่เกษตรกรด้วย

งานของมูลนิธิโครงการหลวงไม่ได้มีแค่เฉพาะในด้านการส่งเสริมอาชีพให้ชาวเขาเพาะปลูกพืชเมืองหนาวเท่านั้น มูลนิธิโครงการหลวงยังมีการร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่นจัดกิจกรรมและสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดั่งพระราช ประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่ทรงต้องการจะเห็นชาวบ้านเหล่านี้มีการพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ จากจุดเริ่มต้นที่มีชาวบ้านเขาร่วมโครงการหลวงเพียงไม่กี่หมู่บ้าน ปัจจุบันการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงได้แผ่กระจายออกไปยังเกษตรกรในพื้นที่ของมูลนิธิ โครงการหลวงแล้วกว่า 85,000 คน กว่า 50 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่สูงให้ถูกต้องเหมาะสม พื้นที่สูงอันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารที่สำคัญของประเทศ อีกทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อย หรือที่เรียกว่า “ชาวเขา”

วันนี้ภาพของการทำไร่ฝิ่นที่กระจัดกระจายตามไหล่เขา ร่องรอยของการตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกพื้นที่ป่า การเผาทำลายป่าบนพื้นที่สูงได้แปรเปลี่ยนไป ภาพเหล่านี้กลายเป็นอดีตที่ทดแทนด้วยผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตงดงามแทน รายได้จากการปลูกฝิ่น ช่วยให้ชาวเขามีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีที่ดินทำกิน ลดการตัดไม้ทำลายป่า ประการสำคัญคือขจัดพื้นที่ในการปลูกฝิ่นที่เป็นปัญหาร้ายแรงของประเทศไปโดยปริยาย ความสำเร็จของมูลนิธิโครงการหลวงในวันนี้ ล้วนแต่เกิดมาจากน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เปรียบประดุจสหัสธาราที่หลั่งลงมาประพรมให้ความฉ่ำเย็นแก่อาณาประชาราษฏร์

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น