เปิดประวัติศาสตร์ตำนานของวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย

ใกล้จะถึงปีใหม่แล้ววันนี้เรามาดูประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยในสมัยโบราณเราซึ่งถือเอา วันแรม 1 ค่ำเดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ และเป็นเช่นนี้ตลอดมา จวบจนกระทั่งปี พ.ศ.2432 แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 เมษายน ทั้งนี้เนื่องจากทางราชการได้นิยมใช้หลักทางสุริยคติ แต่ก็ยังคล้องต้องตามคติพราหมณ์อยู่ เพราะเดือน5 ก็ตรงกับเดือนเมษายนเรื่อยมา ต่อมาทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ใหม่ เนื่องจากมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัตินั้นปฏิทิน พ.ศ.2483 และพระราชบัญญัตินั้นเริ่มใช้ได้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2483 ทางรัฐบาลจึงประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้นมา

ได้มีหนังสือประกาศใช้วันที่1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการและการใช้วันที่1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่จะทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก แต่อะไรทั้งหมดก็ไม่สำคัญเท่าที่จะได้ฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณกาล ซึ่งได้ละทิ้งเสียโดยอิทธิพลของพราหมณ์นั้น กลับขึ้นมาใช้ใหม่ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยทั้งในส่วนเกี่ยวข้องกับชาติของเราเอง และในทางสัมพันธ์กับชาติที่เจริญแล้วทั้งหลาย ทั้งนี้ประเทศไทยเราจึงถือเอาวันที่ 1 มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ตั้งแต่นั้นจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ และถึงแม้ว่าวันที่1 มกราคม จะถือปฏิบัติเป็นวันขึ้นปีใหม่อย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงถือว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วยเช่นกัน

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ประชาชนจะจัดงานรื่นเริงและมหรสพ ตั้งแต่คืนวันที่ 31 ธันวาคมไปจนถึงวันที่1 มกราคมคือ เป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จะมีการจัดกิจกรรมร่วมนับถอยหลังเพื่อก้าวสู่วันใหม่ มีการแลกของขวัญ เลี้ยงสังสรรค์ในหมู่คณะหรือญาติพี่น้อง จากนั้นช่วงเช้าวันวันใหม่คือวันที่1 มกราคม ประชาชนก็จะทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา เยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ ที่เคารพนับถือ เพื่อขอพรและก็มีการอวยพรซึ่งกันและกันเพื่อความสุขความเจริญ ในปีใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น