“แม่แจ่มโมเดล” ต้นแบบความสำเร็จการจัดการที่ดินในเขตป่าให้ถูกกฎหมาย

“แม่แจ่มโมเดล” ถือเป็น 1 ในพื้นที่นำร่องของรัฐบาลสร้างชุมชนที่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้หันกลับมาปกป้อง รักษา ดูแล และเป็นเจ้าของป่าอย่างเต็มตัว เพื่อให้แผนการเพิ่มพื้นที่ป่าและสีเขียวของภาครัฐประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

จากแนวนโยบายของรัฐบาลให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ ด้วยการมุ่งเน้นให้ชาวบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าตามความเหมาะสม ภายใต้กฎกติกาช่วยบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้อย่างสมดุล ผ่านการจัดการที่ดินให้กับชุมชน ที่มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) กำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาที่ดินที่มีราษฎรถือครองในเขตป่า 
ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐลงได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีชาวบ้านอาศัยและทำกินอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ชาวบ้านไม่หลบเลี่ยงหรือหนีเจ้าหน้าที่รัฐอีก แต่กลับหันหน้ามาช่วยกันปกป้องและรักษาป่าไม้ด้วยกัน เบื้องต้นนำร่องใน 4 พื้นที่ คือ นาแห้วโมเดล , แม่แจ่มโมเดล ,น่านโมเดล ,และแม่ฮ่องสอนโมเดล

โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายระหว่างปี 2558 – 2562 รวม 880 พื้นที่ ใน 70 จังหวัด รวมเนื้อที่กว่า 1.27 ล้านไร่ ได้รับอนุญาตแล้ว 124 พื้นที่ ใน 55 จังหวัด รวมกว่า 405,000 ไร่ โดยเป็นการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและการอยู่อาศัยของชุมชนในพื้นที่ป่าเร่งด่วนให้ถูกกฎหมาย
“แม่แจ่มโมเดล” ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัดจนกลายเป็น 1 ในต้นแบบของพื้นที่อำเภออื่นๆ ในเชียงใหม่และของประเทศ ด้วยการผลักดันให้การจัดการที่ดินสมบูรณ์แบบครบวงจร ตั้งแต่การจัดระเบียบที่ดิน การใช้ประโยชน์ และการสร้างมูลค่าในที่ดินอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ที่ไม่เหมาะสมและเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่าให้ฟังว่า เป็นการผลักดันชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่อยู่ในลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 ก่อนมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ให้สามารถเข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยอยู่ระหว่างสำรวจตัวเลขประชาชนทั้งหมดที่อยู่ในลุ่มน้ำดังกล่าว ในเบื้องต้นคืบหน้ากว่าร้อยละ 70 เพื่อให้อำเภอแม่แจ่ม กลายเป็นโมเดล “แม่แจ่มสร้างการปฏิบัติแบบครบวงจร” 
ขณะนี้กำลังเตรียมประกาศพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ให้มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์แบบ

ภาครัฐ จะพัฒนาอาชีพมานำเสนอรูปแบบการส่งเสริมอาชีพหลากหลายทางเลือกให้กับราษฎร ในอำเภอแม่แจ่ม อย่างโครงการสร้างป่าสร้างป่าสร้างรายได้ เกษตรแบบผสมผสาน ทั้งการปลูกกาแฟ ปลูกไผ่ ปลูกไม้เศรษฐกิจ ไม้มีค่า ควบคู่กับการพัฒนาอาชีพและระบบการตลาดที่มั่นคงสอดคล้องตามห้วงระยะเวลา และกระจายผลผลิตทางการเกษตรให้ชาวบ้าน เพื่อให้มีรายได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน ถือเป็นการเปลี่ยนสภาพป่าเสื่อมโทรมบนพื้นที่สูงชันหรือเขาหัวโล้นในอำเภอแม่แจ่มให้กลายเป็นพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวของประเทศในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น