“กลองหลวงล้านนา” สืบสานมรดกแห่งบรรพชน

ดินแดนในภาคเหนือที่เรียกกันว่าล้านนา เป็นดินแดนแห่งมนต์เสน่ห์ที่รวบรวมเอาวัฒนธรรมประเพณีของชนหลายเชื้อชาติมาไว้ที่นี่ นานนับกว่าหลายศตวรรษที่ชนชาวล้านนามีวิถีการดำรงชีวิตที่เรียบง่ายอิงแอบกับการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มชนหลากหลายเผ่าพันธุ์ที่อยู่ในล้านนา อันเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามโดยเฉพาะประเพณีการแข่งขันตีกลองหลวง ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของชนชาวล้านนาอย่างแท้จริง

กลองที่ใช้ตีในพิธีต่าง ๆ ของชาวล้านนามีด้วยกันหลายรูปแบบแล้วแต่ลักษณะของการใช้งาน แต่มีอยู่กลองหนึ่งที่มักจะใช้ตีในโอกาสที่มีงานบุญสำคัญ กลองที่ว่านี้ก็คือ “กลองแอวใหญ่” หรือที่คนล้านนาจะเรียกว่า “กลองหลวง” ซึ่งมักจะบรรเลงในโอกาสที่มีงานบุญหรืองานเทศกาลต่าง ๆ เกี่ยวกับศาสนาเช่นงานสรงน้ำพระบรมธาตุ งานสงกรานต์ งานปอยหลวง เป็นต้น การนำกลองหลวงเข้าร่วมบรรเลงมักจะนิยมใช้เกวียนบรรทุกทั้งนี้เพราะกลองหลวงมีขนาดใหญ่เวลาจะเคลื่อนย้ายก็ต้องอาศัยล้อเกวียน ปัจจุบันการตีกลองหลวงไม่ได้มีวงจำกัดอยู่เพียงแค่ในเฉพาะงานบุญเท่านั้นเมื่อมีการจัดประกวดการแข่งขันตีกลองหลวงขึ้น บทบาทสำคัญของกลองหลวงจึงเริ่มต้นขึ้นใหม่ในฐานะตัวแทนของหมู่บ้าน

การแข่งขันตีกลองหลวงนับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่นิยมกันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในจังหวัดลำพูน ประเพณีการแข่งขันตีกลองหลวงที่มีชื่อเสียงและจัดติดต่อกันทุกปีก็คืองานวันแปดเป็ง หรือ งานเทศกาลสรงน้ำพระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัย และในปีนี้ก็เวียนมาบรรจบ อีกวาระหนึ่ง หมู่บ้านต่าง ๆ จึงได้นำกลองหลวงมาเข้าร่วมแข่งขันในวันนี้ แต่เดิมกลองหลวงใบแรกที่สร้างขึ้นมาจากฝีมือของพ่อหนานหลวง ซึ่งเป็นชาวบ้านทุ่งตุม ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ พ่อหนานหลวงได้สร้างกลองหลวงขึ้นใบหนึ่งมีขนาดใหญ่ยาว 7 ศอก

ความดังของกลองหลวงที่มี “ลูกปลาย” ซึ่งเป็นลักษณะของเสียงที่นิยมว่าดีเลิศ ด้วยความพิเศษดังกล่าวจึงทำให้สล่ากลองท่านอื่น ๆ สร้างเลียนแบบและนำมาตีประชันแข่งขันกัน จนกระทั่งกลองหลวงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและกระจายทั่วไปตามวัดต่าง ๆ ในเขตอำเภอป่าซางและอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดลำพูนจนไปถึงอำเภอต่าง ๆ ของเชียงใหม่ เมื่อถึงโอกาสที่มีงานประเพณีและเทศกาลสำคัญ ๆ หรืองานปอยหลวง ศรัทธาจากวัดต่าง ๆ ที่มีกลองหลวงก็จะนำขบวนแห่และมีการแข่งขันตีกลองหลวงขึ้นจนกระทั่งการตีกลองหลวงได้กลายเป็นประเพณีของชนชาวล้านนาที่ได้ยึดถือปฏิบัติและสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน

หน้ากลองมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 นิ้ว กลองที่สร้างขึ้นดูรูปทรงภายนอกเหมือนกับกลองหลวงทั่วไป แต่ภายในได้เจาะรูเป็นท่อยาว ตรงกลางของกลองเชื่อมระหว่างรูที่ไหกลองกับก้นกลองรูปทรงกรวยที่เรียกว่า “ขุกก้น” ประมาณว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 7 จากนั้นพ่อหนานหลวงจึงได้นำกลองนี้ไปถวายให้กับพระครูพุทธิวงศ์ธาดา เจ้าอาวาสวัดฉางข้าวน้อย พระครูพุทธิวงศ์ธาดาได้ใช้กลองหลวงใบนี้ตีเข้าขบวนแห่ครัวทานและได้มีโอกาสนำไปตีอวดความดัง ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความดังที่คนตีตีกระหน่ำลงบนหนังหน้ากลองเสียงดังกึกก้องกังวาล

การแข่งขันตีกลองหลวงจะมีการแบ่งออกเป็นชุด ๆ ละ 3 – 4 ใบ โดยจะให้กลองที่เข้าแข่งขันตีคนละครั้งก่อนที่จะมีการสลับที่ เหตุผลของการสับเปลี่ยนที่ก็เพื่อให้ความยุติธรรมแก่คณะกลองหลวงมิให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบต่อกันอันเนื่องมาจากเงื่อนไขของดินฟ้าอากาศ หรือทิศทางลม เมื่อสลับที่แล้วคณะกรรมก็จะให้ตีกลองหลวงอีกครั้งเพื่อคัดให้เหลือ 2 ใบโดยจะทำอย่างนี้จนกระทั่งหาผู้ชนะเลิศที่มีเสียงดังกึกก้องกังวาล

กลองหลวงที่เข้าร่วมแข่งขันจะได้รับเงินรางวัลและค่าตอบแทน “ค่าชักลาก” ไม่มากนัก แต่การที่สามารถทำให้คณะของตนครองความเป็นเจ้าแห่งเสียงกลองจะเป็นเป้าหมายหลักและเป็นความภูมิใจที่แท้จริงมากกว่าเงินรางวัลที่ได้ ส่วนผลที่ตามมาก็คือความสามัคคีระหว่างชุมชนทั้งในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้าน ทั้งยังเกิดการอนุรักษ์ส่งเสริมและสานต่อประเพณีของบรรพชนที่ได้เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาเอาไว้ไม่ให้สูญสลายไป

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น