วิถีคนเมืองกับเครื่องเขินล้านนา

เครื่องเขินเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภาคเหนือชาวล้านนาได้มีการผลิตและใช้เครื่องเขินอยู่ในชีวิตประจำวันและในพิธีกรรมต่างๆมานานแล้ว นอกจากนี้เครื่องเขินยังเกิดขึ้นจากศรัทธาของคนชาวล้านนาที่มีต่อพุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นผลให้เกิดรูปธรรมในงานหัตถศิลป์ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงหลักฐานของความเจริญรุ่งเรืองในอดีต

ชาวเขินหรือไทขืน คือกลุ่มชนพื้นเมืองหรือคนไทที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำขืนในแคว้นเชียงตุง ซึ่งเป็นชนกลุ่มหนึ่งในตระกูลไทลื้อ ออกเสียงสำเนียงพื้นเมืองว่า “ขืน” ซึ่งแปลว่าย้อนขึ้นหรือขัดขืน เพราะว่าแม่น้ำสายนี้ได้ไหลย้อนขึ้นไปทางเหนือก่อนที่จะไหลไปรวมกับแม่น้ำโขง กลุ่มชนไทเขินมีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำมาจากไม้ไผ่ลงรักมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใด และอาจเรียกได้ว่าชาวไทเขิน เป็นกลุ่มคนไทกลุ่มแรกที่ได้คิดค้นการทำเครื่องเขิน ดังนั้นเครื่องมือต่างๆเหล่านี้คนทั่วไปจึงเรียกว่า “เครื่องเขิน”
เครื่องเขิน หรือ Lacquer Ware กำเนิดขึ้นจากภูมิปัญญาอันชาญฉลาดในการเอานำธรรมชาติมารับใช้งานศิลปะ บวกรวมกับความเป็นศิลปินโดยจิตวิญญาณของชนเผ่าไทที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ราบลุ่มน้ำขืน จึงเรียกขานชนเผ่าไทกลุ่มนี้มาแต่ไหนแต่ไรว่า “ชาวไทขืน” และขนานนามงานศิลปหัตถกรรมของพวกเขาว่า “เครื่องขืน”

ในช่วงระยะเวลาร้อยกว่าปีที่ผ่านมาเครื่องเขินได้เข้ามาแพร่หลายอยู่ในเชียงใหม่ จนทำให้ในระยะหลังเครื่องเขินถูกกำหนดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนเชียงใหม่อย่างแยกไม่ออก หากจะย้อนถึงประวัติศาสตร์การทำเครื่องเขินในดินแดนเอเชียอาคเนย์ ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือ Aspect Fact Of Thailand กรมประชาสัมพันธ์พิมพ์เมื่อปี 2501 กล่าวว่า เครื่องเขินเรียกชื่อชนเผ่าหนึ่งในตอนเหนือของไทย พวกเขาเหล่านี้เป็นเชลยที่ถูกกวาดต้อนมาเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ในขณะที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพไปตีเวียงจันทน์ เชลยเหล่านี้ได้ตั้งรกรากในเชียงใหม่และถ่ายทอดวิชาหัตถกรรมให้กับชาวเชียงใหม่

ในรายงานวิชาการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย กล่าวว่าเครื่องเขินนั้นน่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศจีน เมื่อ 4,000 ปีมาแล้ว ต่อมาแพร่หลายไปตามที่ต่างๆผ่านทางเกาหลีถึงญี่ปุ่น และผ่านทางตอนใต้ของจีนจนถึงไทย รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับประวัติพิพิธภัณฑ์สถานจีน กล่าวว่ากรรมวิธีการผลิตเครื่องเขินได้เริ่มในสมัยฉางโจว (Shang Chou Period 1766 – 221 BC.)และพัฒนาในสมัยจิ้น จนถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น เครื่องเขินมีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์จีนและยังได้ถูกอ้างไว้ในหนังสือเซีย ซิ หลู (Hsia Chih Lu) ที่เขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง ได้กล่าวถึงต้นกำเนิดของเครื่องเขินไว้อย่างชัดเจนว่า เดิมเครื่องเขินทำด้วยไม้ไผ่และยาด้วยรัก ซึ่งเมื่อ 4,000 ปีมาแล้วจักรพรรดิชุน (Chun) ได้เสวยอาหารในภาชนะที่เคลือบยางรัก ขณะเดียวกันในสมัยจักรพรรดิยู่ แห่งราชวงศ์เซี่ย ก็มีภาชนะใส่เครื่องหอมที่ทาด้วยยางรักสีดำชั้นในและชั้นนอกสีแดงเช่นกัน

ดังนั้นพอจะสันนิษฐานได้ว่า เครื่องเขินนั้นน่าจะมีจุดกำเนิดมาจากประเทศจีนแล้วแพร่ขยายลงมาทางตอนใต้เข้าสู่พม่าและไทย อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ ปราชญ์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมล้านนาได้กล่าวว่า ชาวพม่าเรียกภาชนะประเภทเครื่องเขินนี้ว่า “โยนเถ่” ซึ่งหมายถึงเครื่องใช้ของคนโยนหรือคนยวน ซึ่งก็คือชาวเชียงใหม่ ข้อมูลดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่าชาวพม่าอาจจะมีการทำเครื่องเขินมาก่อน แต่เทคนิคพิเศษที่เรียกว่าโยนเถ่ นั้นเกิดหลังจากที่บุเรงนองได้เข้าตีเมืองเชียงใหม่และกวาดต้อนช่างเขินฝีมือดีชาวเชียงใหม่เป็นเชลยกว่า 40,000 คนไปไว้ในเมืองหงสาวดี เครื่องเขินพม่ามีลวดลายประดับแบบหนึ่งที่เรียก “ซินเม่” ซึ่งหมายถึงเชียงใหม่ น่าจะเป็นลวดลายดั้งเดิมจากเชียงใหม่ ตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ. 2094 – 2124)

ในระหว่างที่พม่าปกครองล้านนา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ต้องส่งเครื่องบรรณาการ ประกอบด้วย ช้าง ม้า ผ้าไหมและเครื่องเขินไปให้พม่าด้วย หลังจากนั้นมาอิทธิพลของพม่าก็เริ่มอ่อนกำลังลง ปีพ.ศ. 2325 เมื่อพระยากาวิละได้รวบรวมผู้คนเดินทางไปกวาดต้อนชาวไทใหญ่ ไทลื้อและไทเขินจากสิบสองปันนา (ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง) มาไว้ที่เชียงใหม่และให้ชาวไทเขินมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ถนนวัวลายแล้ว เครื่องเขินจึงเดินทางกลับเข้าสู่เชียงใหม่อีกครั้งจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนไทยจำนวนมากเข้าใจว่า ไทยรับเอาวิชาการทำเครื่องเขินมาจากพม่า แต่ที่จริงแล้วพม่าได้นำเครื่องเขินไปจากประเทศไทย ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวพม่า” พ.ศ. 2478 ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงการทำเครื่องของลงรักในเมืองพม่าว่า “ฉันได้เห็นในหนังสือพงศาวดารพม่าฉบับหนึ่งว่า วิชาทำเครื่องของลงรักนั้น พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้ไปจากเมืองไทย (คือได้ช่างรักไทยไปเมื่อครั้งตีกรุงศรีอยุธยา ใน พ.ศ.2112) ถ้าจริงดังว่าก็พึงสันนิษฐานว่า ครั้งนั้นได้ไปแต่วิธีทำรักน้ำเกลี้ยง กับ ลายรดน้ำ จึงมีของพม่าทำเช่นนั้นแต่โบราณ แต่วิธีที่ขุดพื้นรักลงไปเป็นรูปภาพและลวดลายต่างๆนั้น พวกช่างชาวเมืองพุกาม เขาบอกฉันว่า เพิ่งได้วิธีไปจากเมืองเชียงใหม่เมื่อชั้นหลัง”

การเดินทางของเครื่องเขินนั้นจึงน่าจะเริ่มต้นมาจากประเทศจีนตอนใต้ หรือ ทางตะวันออกเฉียงใต้ เพราะเคยเป็นราชธานีของราชวงศ์แรกๆของจีน ก่อนที่แมนจูจะปกครอง จากนั้นก็ขยายตัวเข้าสู่ประเทศไทย โดยผ่านทางรัฐฉานเข้ามาถึงล้านนา ไปจนถึงสุโขทัย อยุธยา โดยเฉพาะในดินแดนล้านนาได้มีการทำเครื่องเขินกันอย่างแพร่หลายและเป็นที่รู้จักในเรื่องฝีมือละเอียดปราณีต ด้วยเหตุนี้คนในแถบล้านนา จึงถูกยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีฝีมือในการทำเครื่องเขินเป็นอย่างมาก เช่น บันทึกที่วัดประดออุในพม่า กล่าวถึงเครื่องเขินไว้ว่า เครื่องเขินที่ดีที่สุดนั้นมาจากดินแดนชาวยวน น่าจะหมายถึง เชียงใหม่ ซึ่งช่วงหนึ่งที่ชาวไทเขินจากเมืองเชียงตุง ได้ถูกกวาดต้อนลงมาอยู่ในเชียงใหม่และได้สร้างชุมชนชาวเขินขึ้นที่บ้านวัวลาย และกำหนดงานอาชีพให้เป็นผู้ผลิตงานช่างฝีมือต่างๆ เช่น เครื่องเงิน เครื่องเขิน จนมีชื่อเสียงในปัจจุบัน ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า บนถนนวัวลาย แทบทุกบ้านจะมีการทำเครื่องเขินกันอย่างแพร่หลาย และเรียกได้ว่าถนนเส้นนี้เป็นถนนสายเดียวที่มีการค้าเครื่องเขินและเครื่องเงินที่มีชื่อที่สุดของเชียงใหม่ แม้ปัจจุบันหลายร้านจะเปลี่ยนกิจการมาทำอย่างอื่นแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ของที่นี่ยังถือเป็นถนนสายเครื่องเขินอยู่

เครื่องเขินวัวลาย ส่วนใหญ่จะมาจากแหล่งผลิตบริเวณบ้านวัวลาย บ้านนันทาราม บางส่วนมาจากบ้านระแกง บ้านศรีปันครัว บ้านดอนปิน การทำเครื่องเขินของวัวลาย จะนิยมทำเป็นโครงสานลายขัดด้วยเส้นตอกไม้ไผ่ ที่มีการเหลาให้ได้ขนาดเล็ก เรียบ บางคล้ายทางมะพร้าว สานขัดกับตอกเส้นบางแบนเป็นรูปแฉกรัศมีจากก้นของภาชนะจนได้รูปทรงตามต้องการ โดยไม่ได้มีการดามโครงให้แข็งเป็นส่วนๆเช่นโครงเครื่องเขินพื้นเมือง เครื่องเขินของวัวลายจะมีโครงที่แน่น แข็งแรง เรียบเสมอกันโดยตลอด เมื่อยาร่องและลงสมุกแล้วขัดด้วยใบหนอดหลายๆครั้งก็จะได้รูปภาชนะที่ค่อนข้างเรียบ เกลี้ยงบาง และมีน้ำหนักเบา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบัน เครื่องเขินของล้านนาแทบจะกลายเป็นของหายากและไม่มีชุมชนใดสืบทอดสานต่อภูมิปัญญาเอาไว้ ที่มีอยู่คงเป็นเพียงการผลิตเพื่อตลาดการท่องเที่ยว เป็นของที่ระลึกราคาถูกไร้รสนิยมและสุนทรียทางศิลปะ ถึงเวลาหรือยังที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหันมาคำนึงถึงคุณค่าของมรดกในการสานต่อภูมิปัญญาของบรรพชุนเอาไว้ เพื่อที่ไม่ไห้คนรุ่นหลังรู้จักเครื่องเขินแต่เพียงในภาพถ่าย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น