เที่ยวโครงการหลวงขุนวาง

ชั่วโมงนี้กระแสโปรโมทการท่องเที่ยวภายในประเทศได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เป็นโอกาสของนักเดินทางทั้งหลาย จะหันมาสนใจพากันเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยชายตาแลแม้แต่น้อย ผมเองรู้สึกชื่นชมกับโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้วในชื่อ “เที่ยวไทยไปได้ทุกเดือน” จนมาถึงวันนี้โครงการดังกล่าวกลับผลิดอกออกผล ทำให้ “คน” พากันออกเที่ยวกันมากขึ้น อันเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับชีวิต ที่ปกติจะนั่งทำงานอยู่แต่เฉพาะในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ไม่สุงสิงกับใคร หากเบื่อหน่อยก็ขับรถเข้าห้างสรรพสินค้าตากแอร์ให้เย็นฉ่ำก่อนจะกลับบ้านเปิดทีวีนอนสบายใจ

เช่นนี้แล้วโลกทัศน์ของ “คน” ในการเรียนรู้โลกกว้างก็ไม่บังเกิด และยิ่งนับวันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็ยิ่งสร้างเครื่องมือที่ทำให้คนมีโลกส่วนตัว ชนิดที่วัน ๆ ไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับใครเลยยังได้ เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือสักเครื่องหรือคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คสักตัว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า อีกด้านหนึ่งของเครื่องมือเหล่านี้ มันเสริมส่งให้น้ำจิตน้ำใจคน “เหือดแห้ง” ลงทุกวันวันดีคืนดีเราอาจพบว่า ฮอนด้าซีอาร์วี คันหรูข้างหน้าเรา อยู่ดี ๆ ก็ขับช้าเสียงั้นแหละ เพียงเพราะแม่พระคุณคนนั้นกำลังพูดโทรศัพท์ติดพันอยู่ โดยไม่แม้แต่ชายตามองกระจกว่ารถข้างหลังเขาเดือดร้อนกันอย่างไร

เวลาเจอคนโลกแคบแบบนี้ ผมมีวิธีทำให้ตัวเองไม่เครียด ด้วยการนึกถึงสิ่งดี ๆ คนดี ๆ หรือสถานที่อันชวนภิรมย์ที่เคยเข้าไปสัมผัส และในจำนวนนั้นคือประสบการณ์ที่ได้เข้าไปสัมผัสธรรมชาติและน้ำใจของมิตรแท้ ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง บนรอยตะเข็บระหว่างอำเภอแม่วางกับอำเภอจอมทอง ท่ามกลางวันเวลาของปลายฝนต้นหนาว ผมมีโอกาสเดินทางเข้ามาเยือนศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ที่วันนี้กำลังจะพลิกผันเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมแห่งใหม่ ที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่เพียงแค่ขับรถอึดใจเดียว

ปี พ.ศ.2528 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ได้ถือกำเนิดขึ้นภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังบ้านขุนวางและทรงมีพระราชดำริในการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชผักแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งเอกอัครราชฑูตอเมริการับเป็นผู้สนองพระราชดำริ จัดหางบประมาณสมทบกว่า 30 ปีที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาด้านการเกษตร วันนี้หน้าที่ใหม่ของศูนย์ ฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชมแปลงสาธิตพืชผัก อาทิ ผักกาดหอมห่อ ผักกาดหวาน ผักกาดหางหงส์ กะหล่ำยอดดอย กะหล่ำปลีแดง หอมญี่ปุ่น มะเขือเทศเชอรรี่ รวมถึงแปลงไม้ดอกเมืองหนาว 

นอกจากนั้นยังมีพืชผักเมืองหนาวอีกนานาชนิด เช่น พีช บ๊วย พลัม พลับ สาลี่ ชาจีน องุ่น ที่สามารถเข้าไปเด็ดกินผลสด ๆ ได้ถึงในแปลง นอกจากนั้นที่นี่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวได้เดินทางเข้ามาสัมผัส ทั้งสภาพของป่าเขาที่ร่มครึ้ม วิวทิวทัศน์ที่สวยงามรวมถึงพืชผักเมืองไว้ติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากอีกด้วย นี่แหละคือน้ำใจจาก “มิตรแท้” ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์มาให้เรา

ถึงตรงนี้ อยากจะบอกว่าคนที่เดินทาง “ท่องเที่ยว” เท่านั้นที่มักจะรู้ในคุณค่าของธรรมชาติ การได้ไปเห็นสวนดอกไม้งามแข่งกันเบ่งบานสีสัน ผลไม้สุกบนต้น ป่าไม้เขียวขจี ถึงบอกไปก็ไม่มีใครนึกภาพออก เพราะตราบใดที่ “คน” ยังไม่คิดออกเดินทาง ตราบนั้นจินตนาการแห่งความคิดฝันก็ยังไม่บรรเจิด ที่เล่าให้ฟังก็เพียงแต่อยากเสนอไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะช่วยกันค้นหาแง่งามและน้ำใจจากมิตรแท้ ทั่วทุกพื้นที่บนแผ่นดินไทย ไม่ใช่เอะอะอะไรก็จะโปรโมทกันแต่ดอยสุเทพ สันกำแพง บ่อสร้าง ซ้ำ ๆ กันเรื่อยไป

ท่ามกลางความร้อนระอุของไอแดดสลับกับสายฝนโปรยปราย หากจะเทียบไปก็คงน้อยกว่าความแห้งแล้งของน้ำใจคน ในวันเวลาเช่นนี้ลองขยับกายให้หลุดจากวงโคจรของสังคมเมือง พาตัวเองเข้าไปตามหาน้ำใจจาก “มิตรแท้” ในธรรมชาติที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง แล้วจะรู้ว่า การดำรงอยู่อย่างคนที่พึ่งพาอาศัยกันนั้นมันมีความสุขมากน้อยเพียงใด…แม้ว่าจะเป็นความสุขแค่ชั่วคราวก็ตาม สนใจต้องการเข้าไปเที่ยวชมศูนย์พัฒนาโครงการหลวง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สำนักพัฒนาเกษตรที่สูงเชียงใหม่ หรือ มูลนิธิโครงการหลวงเชียงใหม่ 0 5327 8332

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น