“จากภูลังกาถึงผาจิ” รอยอดีตบนพื้นที่สีแดง

คำกล่าวที่ว่าบริเวณพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยเป็นดินแดนแห่ง “น้ำร้อย ดอยแสน” คงจะไม่เกินเลยความจริงนัก เพราะผมเพิ่งประจักษ์กับสายตาตัวเองเมื่อมีโอกาสสัญจรเข้าไปในดินแดนแห่งภูเขา ทะเลหมอก และหากจะกล่าวว่านี่นับเป็นครั้งแรกที่ผมเดินทางมาเยือนดินแดนอันมีรอยอดีตแห่งการต่อสู้ระหว่างคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งจับอาวุธขึ้นมาประหัดประหารเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง ขณะที่อีกกลุ่มต่อสู้ด้วยสองมือเปล่าเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

ท่ามกลางสายหมอกและอากาศหนาวของเทือกดอยภูลังกา การสัญจรเข้าไปในดินแดนแห่งการต่อสู้ครั้งนั้นทำให้ผมรับรู้และมองเห็นเรื่องราวในอดีตที่ตื่นตาตื่นใจ มากไปกว่าความงามของภูเขาเบื้องหน้าและการเดินทางอันยากลำบากหลายเท่านัก

ขณะที่งานประเพณีปีใหม่ของชาวม้งแห่งบ้านน้ำคะสานก๋วย จังหวัดพะเยากำลังรื่นเริงบันเทิงใจในมวลหมู่หนุ่มสาวชาวม้งอยู่นั้น เทือกดอยภูลังกาอันเป็นเสมือนฉากหลังของหมู่บ้านยังคงสะท้อนรอยอดีตแห่งสมรภูมิรบพร้อมๆกับใบหน้าที่เต็มไปด้วยริ้วรอยแห่งการต่อสู้ของเลาท้าว แซ่โซ้ง วัย 50 ปีเศษอดีตชาวม้งซึ่งเคยเข้าร่วมกับกลุ่มนักศึกษาเคลื่อนไหว

ประชาธิปไตยและเคยร่วมเรียงเคียงไหล่กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการในบริเวณพื้นที่ดอยผาจิ ที่ในวันนี้ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรชาวม้งผู้ดูแลไร่ลิ้นจี่กว่า 10 ไร่บนเชิงดอยเล็กๆใกล้กับภูลังกา อันเป็นสัญลักษณ์ที่คอยย้ำเตือนถึงอดีตแห่งการต่อสู้เมื่อราว 30 กว่าปีที่ผ่านมา

ปลายปี 2519 ภายหลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม ขบวนทัพนักศึกษาปัญญาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยถูกกดดันจากรัฐบาลได้หนีภัยทมิฬเข้ามาร่วมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในเขตป่าตั้งแต่เทือกดอยยาวถึงภูผาตั้ง ภูลังกาเรื่อยไปจนถึงดอยผาจิ รอยต่อระหว่างจังหวัดเชียงรายกับจังหวัดน่าน ซึ่งถือได้ว่าเป็นพื้นที่สีแดงในอดีตเช่นเดียวกับที่เขตปลดปล่อยภูพาน เขาค้อ ภูหินร่องกล้า จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นจำนวนหลายพันคน อันนับเป็นบทเริ่มต้นแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ถูกจารึกไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เลาท้าว เล่าย้อนถึงความทรงจำในครั้งนั้นว่าเขาถูกชักชวนจากกลุ่มนักศึกษาที่หนีเข้าป่าให้เขาไปฝึกอบรมการต่อสู้ที่ประเทศจีน ซึ่งกินเวลานานกว่า 3 ปี เพียงแค่ข้ามเทือกเขาดอยยาว สู่แขวงบ่อแก้ว ข้ามแม่น้ำโขงสู่แขวงอุดมไชยและหลวงน้ำทาของลาว ก็เท่ากับก้าวเข้าสู่แผ่นดินจีนตอนใต้ บริเวณที่เรียกว่า “เขตปกครองตนเองไตลื้อสิบสองปันนา” มณฑลยูนนาน ที่ซึ่งมีนักศึกษาหลายคนเข้าไปร่ำเรียนวิชาการแพทย์ การเมือง การทหาร ที่เมืองคุนหมิง ก่อนที่จะเดินทางกลับสู่ประเทศไทยทางชายแดนจังหวัดน่าน ตลอด 3 ปีที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองจีนถูกฝึกให้มีความรู้เรื่องการต่อสู้และสมุนไพร ซึ่งหลังจากสงครามสงบลงทำให้เขากลายเป็นชาวม้งผู้เดียวที่มีความรู้เรื่องการใช้สมุนไพร

“…ที่เมืองจีนผมจะถูกสอนเรื่องการเมือง การสู้รบและการนำสมุนไพรมารักษา ซึ่งตอนนั้นมีผู้ที่หนีไปเมืองจีนพร้อมกับผมหลายร้อยคนจากนั้นก๋จะแยกย้ายกันไปอยู่ที่อื่นๆ ผมถูกฝึกกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกือบ 3 ปีหลังจากที่เรียนเสร็จก็กลับเมืองไทย แล้วจึงไปอยู่ที่ฐานเขต 7 ดอยผาจิ ซึ่งเป็นฐานที่ใหญ่ที่สุด…”

จากบันทึกการเดินทางของจันทนา ฟองทะเล อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในหนังสือชุด “การเดินทางของหนุ่มสาวแห่งเดือนตุลา จากดอยยาวถึงผาจิ หนึ่งช่วงแสวงหา” ทำให้เราทราบว่าบนเทือกเขาดอยยาวที่ทอดตัวจากเหนือสุดของเชียงรายจรดใต้สุดจนถึงรอยต่อของจังหวัดน่าน การมีแบ่งฐานที่มั่นเขตงานออกเป็นหลายเขต โดยเฉพาะที่ดอยผาจิซึ่งเป็นฐานที่มั่นเขต 7 อันเป็นเขตงานที่ใหญ่ที่สุดภายใต้อำนาจรัฐใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ฐานที่มั่นแห่งนี้มีโรงเรียนการเมืองการทหารที่รองรับนักศึกษาปัญญาชนและเคยมีอดีตผู้นำนักศึกษาที่ปัจจุบันผันตัวเองมาเล่นการเมืองหลายคนก็เคยผ่านการฝึกจากโรงเรียนแห่งนี้มาแล้ว อีกทั้งบริเวณตั้งแต่ภูลังกาจนถึงผาจิยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการขนส่งอาวุธจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งให้การสนับสนุนในสมัยนั้น
เลาท้าว เล่าให้ฟังอีกว่าในช่วงเวลานั้นบริเวณพื้นที่ดอยภูลังกาถูกใช้เป็นจุดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์จากเมืองจีนเข้ามาแล้วพักไว้ที่ภูลังกา ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปที่เขตงานดอยผาจิ ในการลำเลียงอาวุธจากภูลังกาไปถึงผาจิ จะต้องเดินลัดเลาะไปตามสันเขาซึ่งใช้เวลานานกว่า 3 วัน

จากภูลังกาถึงผาจิในช่วงปี 2520 – 2525 จึงกึกก้องไปด้วยเสียงคำรามของเครื่องบิน เสียงดังสั่นของระเบิดและเสียงระงมของเสียงปืนระคนกับเสียงร้องเจ็บปวดของผู้บาดเจ็บ ในเมื่อที่นี่คือสมรภูมิสงครามการต่อสู้ทางความคิดของคนสองกลุ่มที่ขัดแย้งกันทางอุดมการณ์ที่ลงเอยด้วยการสูญเสียเลือด เนื้อ น้ำตาและชีวิต

หลังปี 2528 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยพ่ายแพ้ต่อนโยบาย 66/23 ที่ใช้การเมืองนำการทหาร เสียงปืนที่เคยกึกก้องบนเทือกดอยภูลังกาถึงผาจิสงบลง รัฐบาลไทยพลักดันให้ชาวม้งที่เป็นแนวร่วมของ พคท. ให้ลงสู่พื้นราบเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ก่อนจะส่งเสริมอาชีพการเกษตรให้กับชาวม้ง หลังสงครามสงบมีกลุ่มนักศึกษาปัญญาชนพากันเดินทางออกจากป่าเข้าเมืองเป็นจำนวนมาก ขณะที่ชาวม้งที่เป็นแนวร่วมต่างแยกย้ายกันไปตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่

แม้ว่าวันนี้กว่า 30 ปีแล้วที่สงครามสิ้นสุดลง กว่าสันติภาพจะบังเกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ อดีตอันโชกเลือดมาหมาดๆอาจไม่ลบเลือนไปจากความทรงจำของพ่อเฒ่าเลาท้าว แซ่โซ้ง อย่างไรก็ตามในวันที่สายหมอกหยอกล้อกับยอดภูลังกา สำหรับผมในวันนั้นแล้วมันเป็นสิ่งคุ้มค่าเหลือประมาณ สำหรับการขับรถรอนแรมกว่าค่อนวัน ข้ามภุเขาและสายน้ำมาหลายสิบสายสู่ผืนดินอันเป็นตำนานของนักสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ทำให้เรารับรู้ว่า การได้มาซึ่งประชาธิปไตยและสันติภาพในปัจจุบันอาจหลีกไม่ได้สำหรับการต่อสู้และสูญเสีย.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น