เชียงใหม่ปรับแผน ล้อมคอกลดอุบัติเหตุปีใหม่

ปกติทั่วไปเมืองท่องเที่ยว เมืองใหญ่ๆที่มีผู้คนนิยมเดินทางมา ไม่จำเพาะแค่ช่วงเทศกาลใดๆ ก็มักจะมีสถิติอุบัติเหตุ เจ็บ สูญเสีย ในอัตราที่สูงซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามเร่งแผนลดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่เชียงใหม่นั้นถ้าพลิกย้อนสถิติอุบัติเหตุทางถนนเทศกาลปีใหม่เกิดอุบัติเหตุ 127 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 135 ราย น้อยกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี 14 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 9.93 อำเภอที่มีอุบัติเหตุสูงสุดคือสันทราย สาเหตุหลักมาจากเมาสุราร้อยละ 46 ขับรถเร็วเกินกำหนดร้อยละ 15 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรจักรยานยนต์ ร้อยละ 83 ส่วนใหญ่ผู้ประสบอุบัติเหตุเป็นคนในพื้นที่สูงถึงร้อยละ 65

หากพลิกข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัย ทางถนนเชียงใหม่ย้อนไปช่วง 10 ปี พบว่าเทศกาลปีใหม่มีอุบัติเหตุเฉลี่ยวันละ 16 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 1-2 คน ถ้าดูสถิติจากเครือข่ายที่ร่วมรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุตั้งแต่ 1 มค.จนถึงวันนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 273 ราย บาดเจ็บราวๆ 15,890 คน

ช่วงเทศกาลปีใหม่ เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศนิยม ทำให้ มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ และสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ

ดังนั้นศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงกำหนดช่วงเตรียมความพร้อม 1-26 ธค.61 ช่วงปฏิบัติการเข้มข้น 27 ธค. 61 ซึ่งคาดว่า28-29 ธค. จะมีอัตราการเดินทางหนาแน่นที่สุด
จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจร่วมแบบบูรณาการ ตั้งจุดสกัดประจำชุมชน หมู่บ้าน เส้นทางสายหลัก (ทางหลวงแผ่นดิน) สายรอง (ทางหลวงชนบท และถนนของอปท.และหน่วยงานอื่นๆ) อำนวยความสะดวกในการเดินทางตามแผนงาน

รวมถึงสถานบันเทิง เพื่อป้องกันการฝ่าฝืนหรือกระทำผิด ตามมาตรการ 3 ม. (เมาไม่ขับ สวมหมวกนิรภัย มอเตอร์ไซด์ปลอดภัย) 2 ข. (ใบขับขี่ รัดเข็มขัดนิรภัย) 1 ร. (ขับรถเร็ว) รวมทั้งแซงในที่คับขัน ขับขี่รถย้อนศรขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง และโทรศัพท์ขณะขับขี่
เน้นหนักในเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ ความเร็ว เมาสุราไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของกรณีการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน

ให้ความสำคัญกับรถตู้และรถโดยสารไม่ประจำทาง (ไม่ชำนาญเส้นทางและใช้ความเร็ว) เน้นย้ำมาตรการควบคุมคุณภาพรถโดยสารสาธารณะ ติดตั้งป้ายและสัญญาณไฟเตือนให้เห็นอย่างชัดเจน ในจุดเสี่ยงจุดอันตราย พร้อมแจ้งเตือนผ่านช่องทางต่างๆ

ให้ทุกอำเภอใช้มาตรการควบคุมทางสังคมในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน โดยมอบหมายท้องถิ่น ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่จัดให้มีจุดตรวจตักเตือนประจำชุมชน หมู่บ้าน
ให้เน้นการกระทำความผิดเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ การดื่มสุราในกลุ่มวัยรุ่น และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรถทุกชนิด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

ร่วมแสดงความคิดเห็น